คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกาว่า ก่อนจำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้จำเลยเคยฟ้องโจทก์มาก่อน ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้พิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้เช่าอาคารพิพาทจากจำเลยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้กลับวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เช่าอาคารพิพาทจากจำเลย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมิใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่คณะกรรมการปรับปรุงอาคารพิพาทของโจทก์ผู้ให้เช่ามีมติให้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยผู้เช่า นางย. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอาคารของโจทก์ผู้ให้เช่า ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยผู้เช่าไปตามมติดังกล่าวนั้น แม้ในมตินั้นจะไม่ได้ระบุให้นางย.เป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยก็ถือได้ว่านางย.บอกเลิกการเช่าแทนโจทก์ผู้ให้เช่าแล้วโดยชอบโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อำนวยการของโจทก์ผู้ให้เช่าต้องมอบอำนาจอีกการเช่าอาคารระหว่างโจทก์ผู้ให้เช่ากับจำเลยผู้เช่าระงับลงแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ในขณะยื่นฟ้องอาจให้ค่าเช่าได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาทดังนี้ การที่จำเลยฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ควรต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 2 สำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ร่วมสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังเป็นจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 56 จากโจทก์ที่ 2 ต่อมาเมื่อปี 2521 โจทก์ที่ 1 ได้เช่าช่วงอาคารดังกล่าวเฉพาะชั้นที่ 1 จากจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และได้เปิดประมูลให้เช่าอาคารดังกล่าว โจทก์ที่ 1เป็นผู้ประมูลได้ ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าวในชั้นที่ 1 สำหรับชั้นที่ 2 นั้น จำเลยและบริวารยังไม่ยอมส่งมอบ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 และเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากชั้นที่ 2ของอาคารดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกไป
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ที่ 2เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยเช่าช่วงอาคารดังกล่าวจากจำเลย หากเพียงแต่อาศัยอยู่เพื่อประกอบการชั่วคราวเท่านั้นต่อมาจำเลยต้องใช้อาคารดังกล่าวจึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบแต่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมออกไป จำเลยจึงได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 16285/2526 ของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่สิ้นสุดลงโจทก์ที่ 2 ไม่เคยเปิดประมูลให้เช่าอาคาร โจทก์ที่ 1 ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 เป็นคดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 ฟ้องว่า แต่เดิมโจทก์ที่ 2 ได้ให้จำเลยเช่าอาคารพิพาททั้งชั้นที่ 1 และ 2 เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว จำเลยยังอยู่ในที่เช่าต่อไปก็ให้ถือว่าตกลงเช่าต่อไปจนกว่าจะบอกกล่าวเป็นหนังสือขอเลิกสัญญาเช่า ต่อมาจำเลยได้ให้โจทก์ที่ 1 เข้าอยู่ครอบครองอาคารพิพาทชั้นที่ 1 อันเป็นการผิดสัญญาเช่า ประกอบกับสัญญาเช่าได้ครบกำหนดแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยและให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายใน 30 วัน ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้จัดให้โจทก์ที่ 1 เช่าอาคารพิพาทดังกล่าวโจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทโดยชอบ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาทชั้นที่ 2 และห้ามมิให้เกี่ยวข้องอาคารพิพาทชั้นที่ 1 และที่ 2ต่อไปอีก
สำนวนหลังจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 4/56 จากโจทก์ที่ 2 ในระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลบังคับอยู่นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันฉ้อฉลจำเลย โดยโจทก์ที่ 2นำเอาอาคารดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ 1 เช่าอีกต่อหนึ่ง การกระทำของโจทก์ทั้งสองทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยได้มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่มีอยู่กับโจทก์ที่ 2 ถูกต้องตามกฎหมายและสัญญาเช่าต่อไป ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 1,580,000 บาท (ที่ถูก1,530,000 บาท) พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 รับว่าเคยให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทชั้นที่ 1 และที่ 2 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า ประกอบกับสัญญาเช่าดังกล่าวหมดอายุการเช่าแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่า แล้วโจทก์ที่ 2 จึงนำอาคารพิพาทเปิดประมูลให้เช่าโจทก์ที่ 1 ประมูลได้ ขอให้ยกฟ้องจำเลย
โจทก์ที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้สมคบกับโจทก์ที่ 2 เพื่อฉ้อฉลจำเลยจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 1ขอให้ยกฟ้องจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในคดีสำนวนแรกและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากชั้นที่ 2 ของอาคารพิพาท ให้จำเลยส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารพิพาท ดังกล่าวคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก พิพากษายกฟ้องคดีสำนวนหลัง
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคดีสำนวนแรก จำเลยฎีกาข้อแรกว่าก่อนจำเลยถูกโจทก์ฟ้องสำนวนแรก จำเลยเคยฟ้องโจทก์ที่ 1มาก่อนแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16285/2524 ของศาลแพ่งซึ่งในคดีดังกล่าวศาลแพ่งได้พิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เช่าอาคารพิพาทจากจำเลย เมื่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวจึงฟังยุติตามคำพิพากษาฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มิได้เช่าอาคารพิพาทจากจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงในคดีสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เช่าอาคารพิพาทจากจำเลยขัดกับข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาฟังไว้ในคดีดังกล่าวข้างต้นนั้นจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกายกขึ้นมาอ้างนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมิใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ที่ 2ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการปรับปรุงอาคารของโจทก์ที่ 2 มีมติให้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลย นางยุดาซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอาคารของโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยไปตามมติดังกล่าวนั้น แม้ในมตินั้นจะไม่ได้ระบุให้นางยุดาเป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลย ก็ถือได้ว่านางยุดาบอกเลิกการเช่าแทนโจทก์ที่ 2 แล้วโดยชอบโดยปริยายไม่จำเป็นต้องให้ผู้อำนวยการของโจทก์ที่ 2 ต้องมอบอำนาจอีกชั้นหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา การเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงระงับลงแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อกรณีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยโดยชอบแล้วดังได้วินิจฉัยข้างต้น ดังนั้นที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟังไม่ขึ้นไปด้วย
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ควรต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ในขณะยื่นฟ้องอาจให้ค่าเช่าได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง จำเลยฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1ควรต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share