แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทไปเป็นเวลา 10 ปีเศษ โดยไม่ได้มาใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทเลย เป็นการทอดทิ้งทรัพย์ที่ครอบครองไปแม้การทอดทิ้งนั้นจะเป็นเพราะถูกบุคคลอื่นหลอกว่าทางราชการต้องการที่ดินคืน ก็หาใช่เป็นเหตุขัดข้องชั่วคราวมาขัดขวางการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคสองไม่ ที่จำเลยที่ 2เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทครั้งหลังก็ถูกโจทก์โต้แย้งการครอบครองของจำเลยจึงสิ้นสุดลง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 824 เลขที่ดิน 511 ตำบลแม่หล่ายอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าถือการครอบครองในที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง โดยปลูกต้นไม้และโรงเรือนอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของโจทก์ส่งมอบที่ดินในสภาพใช้การได้ดี โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่ควรจะได้แก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์เดิมเป็นที่ดินแปลงใหญ่มีสภาพเป็นป่า ต่อมาทางราชการอนุญาตให้ประชาชนที่ยากจนเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยแบ่งเป็นแปลงเท่า ๆ กันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยทางราชการออกหลักฐานเป็นใบจอง (น.ส.2)ให้ไว้ จำเลยทั้งสองต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนของตนตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2518 นายอิ่นคำ กรุงศรี กำนันตำบลแม่หล่ายในขณะนั้นได้แจ้งให้ประชาชนรวมทั้งจำเลยทั้งสองทราบว่าทางราชการต้องการที่ดินคืน ไม่ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ต่อไป และให้ออกจากที่ดินจำเลยทั้งสองหลงเชื่อจึงออกจากที่ดินและเฝ้าดูตลอดมาไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเข้าทำประโยชน์จนถึงต้นปี พ.ศ. 2529 จำเลยทั้งสองรู้ว่าทางราชการมิได้เวนคืนที่ดินเหล่านั้น จึงกลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในส่วนที่เคยครอบครองมา แต่ถูกโจทก์โต้แย้ง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ตามฟ้องออกโดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างลงในที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินนั้นในสภาพใช้การได้ดีดุจเดิม โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเอง และห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีนายเนาวรัตน์ ขัติยะวรา ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์นางฟองจันทร์ ขัติยะวรา เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเหรียญ บัวลอย ปรากฏตามใบจอง (น.ส.2) เอกสารหมาย จ.3 ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้ขายให้นายสมคิด ขัติยะวรา บิดาโจทก์ หลังจากซื้อมาแล้วในปี พ.ศ. 2515 นายสมคิดได้ยกให้โจทก์โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกพืชจำพวกถั่ว ฝ้าย ซึ่งบางครั้งโจทก์ทำเอง บางครั้งก็ให้บิดามารดาช่วยดูแล ในปี พ.ศ. 2519เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ให้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ระหว่างปี พ.ศ. 2520 ถึงปี พ.ศ. 2522นายหวันและนางเหลี่ยมเข้าดูแล ปี พ.ศ. 2523 ถึงปี พ.ศ. 2525 โจทก์และบิดาช่วยกันดูแล ปี พ.ศ. 2526 ถึงปี พ.ศ. 2527 นายอิ่นคำ กรุงศรีเช่าปลูกถั่ว ปี พ.ศ. 2528 นายนวล ค้ำจุน เช่าปลูกฝ้าย เมื่อเดือนมิถุนายน 2529 จำเลยทั้งสองเข้าไปบุกรุกถอนแนวเขตรั้วรื้อถอนพืชผลที่ปลูกไว้ โจทก์และนายเนาวรัตน์ได้ไปว่ากล่าวตักเตือนแต่จำเลยทั้งสองไม่เชื่อฟัง จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแพร่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอิ่นคำ กรุงศรี นายนวล ค้ำจุนนายหวัน ปาคำ เบิกความสนับสนุน พยานดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลเชื่อมโยงกันตลอด ดังนี้ จะเห็นได้ว่า โจทก์ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จนทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ให้ ทั้งยังได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 เมื่อจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทโจทก์ก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าโจทก์หวงกันที่ดินพิพาทใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือ พยานจำเลยที่ 2 ที่นำสืบว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่จำเลยทั้งสองกับนางศรีวรรณวงศ์แก้ว เบิกความเป็นพยานลอย ๆ ว่าไม่มีใครครอบครองที่ดินพิพาทแต่จากการให้ถ้อยคำของจำเลยที่ 2 ต่อนายอำเภอเมืองแพร่ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 23 กลับระบุว่าในปี พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทไม่ได้เพราะนายอิ่นคำครอบครองที่ดินพิพาทอยู่คำพยานจำเลยที่ 2 จึงขาดเหตุผลและไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังโจทก์จึงมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2518 จึงได้อพยพออกจากที่ดินพิพาทไปเพราะถูกนายอิ่นคำกำนันหลอกลวงว่าทางราชการต้องการที่ดินแต่จำเลยที่ 2 ก็ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทอีกในปีพ.ศ. 2529 การครอบครองจึงไม่สิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทไปเป็นเวลา 10 ปีเศษ โดยไม่ได้มาใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทเลย เป็นการทอดทิ้งทรัพย์ที่ครอบครองไป แม้จะถูกบุคคลอื่นหลอกลวงว่าทางราชการต้องการที่ดินคืน ก็หาใช่เหตุขัดข้องชั่วคราวมาขัดขวางการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1377 วรรคสอง ไม่ ที่จำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทครั้งหลังก็ถูกโจทก์โต้แย้ง การครอบครองของจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.