คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสนั้น ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในหมวดเดียวกัน องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำก็เป็นอย่างเดียวกันต่างกันตรงผลแห่งการกระทำเท่านั้น คือถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ก็เป็นความผิดตามมาตรา 297 มีผลให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสเพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมเท่ากัน แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา 295 เป็นบทลงโทษมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 295ซึ่งอัตราโทษเบากว่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ชกต่อย ถีบ และใช้เก้าอี้เหล็กตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายถูกบริเวณหน้า แขน ลำตัว และเท้า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสิทธิพรผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยชกต่อย ถีบ และใช้อาวุธตามฟ้องตีทำร้ายโจทก์ร่วม เหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน แต่กากระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมเท่านั้น พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายต่อไปว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 เป็นการพิพากษานอกฟ้อง และเกินกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสไว้ในหมวดเดียวกัน องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำก็เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันตรงผลแห่งการกระทำเท่านั้น คือถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ก็เป็นความผิดตามมาตรา 297มีผลให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้นดังนั้นเมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสเพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมเท่านั้นแม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา 295 เป็นบทลงโทษมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share