คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จและส่งให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 1ฟังแล้ว และได้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปอีกศาลหนึ่งเพื่ออ่านให้จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำท้องที่ศาลนั้นฟัง แต่จำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟัง ศาลนั้นจึงส่งคำพิพากษาศาลฎีกาคืนศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลฎีกาและสำนวนมายังศาลฎีกาศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเดิมโดยทำเป็นคำพิพากษาใหม่ปรับปรุงคำพิพากษาเดิมและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความศาลฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายหมายอาญา มาตรา 43, 334, 335 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(1)(7)(8) วรรคสามจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ฟังไปก่อนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535แล้วส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่ออ่านให้จำเลยที่ 2 ฟัง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2535 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงส่งคำพิพากษาศาลฎีกาและสำนวนคืนมายังศาลฎีกาเพื่อทำคำพิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ใหม่
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2ถึงแก่ความตายไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงต้องปรับปรุงแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวเสียใหม่ให้ตรงกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงมีคำสั่งแก้ไขปรับปรุงคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยตัดข้อความหน้า 2 ตั้งแต่ย่อหน้าที่ 6 จนสุดคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมออกทั้งหมดและใช้ข้อความใหม่ต่อไปนี้แทน
“ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความศาลฎีกา
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า บ้านผู้เสียหายเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวขนาดกว้าง 10 ศอก ยาว 3 วา ยกพื้นสูงจากดิน 3 ศอก ประมาณวันที่ 29 กรกฎาคม 2532 ผู้เสียหายซื้อโทรทัศน์สีขนาด 14 นิ้ว1 เครื่อง ราคา 15,000 บาท มาใช้ดูรายการบนเรือน เมื่อวันที่6 สิงหาคม 2532 ผู้เสียหาย นางสมบุญภริยาผู้เสียหาย นางสาวสมปองบุตรผู้เสียหายดูรายการโทรทัศน์อยู่จนเวลา 23 นาฬิกาเศษ จึงเข้านอนในมุ้ง คนละหลังโดยเปิดไฟฟ้านีออนขนาด 20 วัตต์ 1 ดวงไว้กลางห้อง หลังจากนอนหลับไปแล้วผู้เสียหายและนางสาวสมปองต่างรู้สึกตัวตื่นขึ้น เพราะพื้นเรือนสั่นไหว เมื่อมองไปทางหัวนอนซึ่งเป็นที่ตั้งโทรทัศน์สีเห็นจำเลยที่ 1 กำลังใช้ผ้าถุงห่อโทรทัศน์สีแล้วยกเอาไปวางที่พื้นเรือนใกล้หน้าต่างด้านปลายเท้าผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ปีนหน้าต่างออกไป ผู้เสียหายร้องว่า”ขโมยช่วยด้วย ช่วยด้วย” ผู้เสียหายออกจากมุ้ง ไปดูเห็นโทรทัศน์สีของตนถูกห่อด้วยผ้าถุงกับมีเชือกผูกห่อผ้าดังกล่าวอยู่ด้วย 1 เส้นเพื่อใช้หย่อน ลงทางหน้าต่าง ผู้เสียหายออกจากบ้านไปแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย ผู้ใหญ่บ้านแนะนำผู้เสียหายให้ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ รุ่งเช้าผู้เสียหายจึงไปขอให้นายไพศาลซึ่งเป็นพี่ชายของนางสุดใจลูกสะใภ้ของตน ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านช้างผู้เสียหายเข้าแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทสังเกต บุญสกุล ระบุว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปลักโทรทัศน์สีในบ้านในเวลากลางคืนร้อยตำรวจโทสังเกตไปดูที่เกิดเหตุพบไม้พะอง พาดอยู่ที่ขอบหน้าต่างโคนไม้พะอง ตั้งอยู่ที่พื้นดินในเขตรั้วบ้านนางอุไร กับพบโทรทัศน์สีของผู้เสียหายห่อด้วยผ้าถุงมีเชือกผูกอยู่ 1 เส้นวางอยู่ที่พื้นเรือนข้างหน้าต่าง นางอุไรตรวจดูแล้วยืนยันว่าผ้าถุงและเชือกเป็นของตนที่หายไป โดยตกตากผ้าถุงไว้หน้าครัวและเชือกเส้นดังกล่าวเป็นเชือกสำหรับผูกเปลที่ใต้ถุนบ้านร้อยตำรวจโทสังเกตทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.5 แล้วติดตามไปจับจำเลยที่ 1 ได้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2532 ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่า จำเลยที่ 1 อยู่บ้านของตนเองผู้เสียหายและบุตรผู้เสียหายเคยรุมทำร้ายนายประเสริฐพุ่มเจริญ แล้วถูกฟ้องเป็นคดี จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานให้นายประเสริฐ ผู้เสียหายจึงโกรธเคืองจำเลยที่ 1
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์มีนายสมพงษ์ผู้เสียหายและนางสาวสมปองเป็นประจักษ์พยานเบิกความได้สอดคล้องกันว่าพยานทั้งสองนอนอยู่คนละมุ้ง ต่างรู้สึกตัวตื่นขึ้นเพราะพื้นเรือนสั่นไหว เมื่อมองไปทางด้านหัวนอนของผู้เสียหาย เห็นจำเลยที่ 1กำลังห่อโทรทัศน์สีของผู้เสียหายด้วยผ้าถุงแล้วยกเอาไปวางที่พื้นเรือนริมหน้าต่างด้านปลายเท้าของผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องตะโกนขึ้น จำเลยที่ 1 จึงได้หลบหนีออกทางหน้าต่างไปพยานทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 1 มานานหลายปี เพราะเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน ขณะเกิดเหตุมีแสงไฟฟ้านีออนขนาด 20 วัตต์ 1 ดวง เปิดไว้บนเรือนกลางห้อง จึงสามารถมองเห็นและจำกันได้ถูกต้อง รุ่งเช้าผู้เสียหายได้รีบไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนระบุว่าจำเลยที่ 1เป็นคนร้าย ซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจโทสังเกต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านช้างเบิกความสนับสนุนว่า ผู้เสียหายมาแจ้งความระบุว่าจำเลยที่ 1 ขึ้นไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายบนเรือนเมื่อร้อยตำรวจโทสังเกตไปตรวจที่เกิดเหตุก็พบว่ามีไม้พะองพาดอยู่ที่ขอบหน้าต่างบ้านผู้เสียหายโคนไม้พะอง ตั้งอยู่ในเขตรั้วบ้านนางอุไร กับพบโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ห่อด้วยผ้าถุงและผูกด้วยเชือก 1 เส้น วางอยู่ที่พื้นเรือนใกล้หน้าต่างบนเรือนผู้เสียหายพยานได้ทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.5 นางอุไรเบิกความยืนยันว่า คืนเกิดเหตุผู้เสียหายร้องตะโกนบอกว่าขโมยขึ้นเรือนผู้เสียหาย เมื่อพยานตรวจดูผ้าถุงและเชือกที่คนร้ายใช้ห่อและผูกโทรทัศน์สีนั้นแล้วยืนยันว่าเป็นทรัพย์สินที่หายมาจากบ้านของตน สนับสนุนให้เห็นได้ว่ามีคนร้ายขึ้นไปลักโทรทัศน์สีของผู้เสียหายจากบนเรือนจริง หาใช่ผู้เสียหายปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อใส่ร้ายจำเลยที่ 1 ไม่ การที่คนร้ายไม่สามารถลักเอาโทรทัศน์สีของผู้เสียหายไปได้ดังกล่าวย่อมมีเหตุผลเชื่อได้ตามคำผู้เสียหายและนางสาวสมปองว่าเพราะผู้เสียหายรู้ตัวตื่นขึ้นและตะโกนทำให้จำเลยที่ 1 ตกใจหนีออกทางหน้าต่างไปเสียก่อน ผู้เสียหายและนางสาวสมปองจึงมีโอกาสเห็นและจำจำเลยที่ 1 ได้โดยอาศัยแสงไฟฟ้าที่เปิดไว้บนเรือนตรงกลางห้องประกอบกับพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายรีบไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในตอนเช้าระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ในเวลาต่อมา ย่อมมีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายรายนี้ พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างน้ำหนักคำพยานโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share