คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้อง โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อเมื่อ ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน แต่เมื่อห้างผู้เช่าซื้อ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด จนโจทก์มอบให้ทนายความ มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังห้างผู้เช่าซื้อแล้ว กลับมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยขึ้น โดยเอาหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยและ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเข้าเป็นเงินจำนวนเดียวให้จำเลยผ่อนชำระ ต่อไป แต่ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหาได้มีข้อความใด กล่าวถึงรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ไม่ ทั้งปรากฏว่าหลังจากนั้น ห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยยังคงครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อ ต่อมาอีกด้วย เห็นได้ว่า หากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าวจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ย่อมโอน กรรมสิทธิ์และโอนทางทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ห้างผู้เช่าซื้ออย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นจำเลยย่อมไม่ทำสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับโจทก์ การที่โจทก์ยอมให้ ห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อ หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วก็ดี และยอมจะโอน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้ห้างผู้เช่าซื้อเมื่อจำเลย ผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนแล้วก็ดี ย่อมแสดงว่าคู่สัญญาเช่าซื้อเดิม ยังคงถือปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมิได้มีเจตนาให้สัญญา เช่าซื้อเลิกไปเสียทั้งหมดคงเปลี่ยนแปลงเฉพาะแต่จำนวนหนี้ ค่าเช่าซื้อและการผ่อนชำระเท่านั้น สัญญาประนีประนอม ยอมความดังกล่าวจึงมิได้ทำให้สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ระงับไปและไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ประกอบมาตรา 852 คงมีลักษณะเป็นเพียงสัญญารับสภาพหนี้และผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ และหนี้อื่น ๆ ที่ค้างชำระเท่านั้น เมื่อสิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมยังคงมีผลบังคับอยู่ ห้างผู้เช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และโจทก์จะเรียกร้อง เอาค่าเช่าซื้อหลังจากนั้นหาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อยังคงมีอยู่เพียงใดจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ สมควรให้โอกาสแก่โจทก์ไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 3,176,200 บาท ด้วยการผ่อนชำระเป็นงวด ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,811,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,176,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเจริญเมืองเลยก่อสร้าง ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฟูโซ่จากโจทก์รวม 2 คัน ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเจริญเมืองเลยก่อสร้างผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทั้งสองสัญญาและให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเจริญเมืองเลยก่อสร้างส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาภายใน 30 วัน แก่โจทก์ ขณะนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูเจริญเมืองเลยก่อสร้างยังค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 1,837,200 บาท โจทก์และจำเลยจึงตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้อง โดยให้จำเลยครอบครองรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวต่อไป ต่อมาจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอันเลิกกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,176,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2534 ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเจริญเมืองเลยก่อสร้างโดยจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฟูโซ่ไปจากโจทก์ 1 คัน ในราคา 1,405,200 บาทชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 38,200 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2534 ห้างดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฟูโซ่ไปจากโจทก์อีก 1 คัน ในราคา 1,425,200 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 38,200 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไป ห้างดังกล่าวได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา ต่อมาห้างดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด ในวันที่ 19 กันยายน 2537 โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฉบับดังกล่าวพร้อมทั้งเรียกให้ชำระค่าเซ่า ซื้อที่ค้างและส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนแก่โจทก์ ซึ่งห้างดังกล่าวได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญากันขึ้นฉบับหนึ่งเรียกชื่อเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีข้อความว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน 3,176,200 บาท และยอมผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์เรียกร้องเอาหนี้สินทั้งหมดได้ทันทีพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดหนี้ที่ค้างชำระ ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่หลังจากทำสัญญาฉบับนี้แล้วจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เลย และเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนให้โจทก์แล้ว
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า มูลหนี้รายนี้เกิดจากการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อ 2 คัน ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเจริญเมืองเลยก่อสร้าง โดยจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในฐานะผู้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ดังมีข้อความระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ในข้อ 20 แต่เมื่อห้างผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดจนโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังห้างผู้เช่าซื้อแล้ว กลับมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยขึ้นตามเอกสารหมาย จ.1 โดยเอาหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฉบับพร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเข้าเป็นเงินจำนวนเดียวให้จำเลยผ่อนชำระต่อไป แต่ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหาได้มีข้อความใดกล่าวถึงรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันไว้ไม่ ทั้งปรากฏว่าหลังจากนั้นห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยยังครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันต่อมาอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า หากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจนครบถ้วนแล้วโจทก์ย่อมโอนกรรมสิทธิ์และโอนทางทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันนั้นให้แก่ห้างผู้เช่าซื้ออย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นจำเลยย่อมไม่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับโจทก์ การที่โจทก์ยอมให้ห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วก็ดี และยอมจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้ห้างผู้เช่าซื้อเมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนแล้วก็ดี ย่อมแสดงว่าคู่สัญญาเช่าซื้อเดิมยังคงถือปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฉบับ โดยมิได้มีเจตนาให้สัญญาเช่าซื้อทั้งสองฉบับนั้นเลิกไปเสียทั้งหมด คงเปลี่ยนแปลงเฉพาะแต่จำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อและการผ่อนชำระเท่านั้น สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมิได้ทำให้สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมทั้งสองฉบับระงับไป และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ประกอบมาตรา 852 คงมีลักษณะเป็นเพียงสัญญารับสภาพหนี้และผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและหนี้อื่น ๆ ที่ค้างชำระเท่านั้น เมื่อสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมยังคงมีผลบังคับอยู่ดังกล่าวแล้วห้างผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และโจทก์จะเรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อหลังจากนั้น หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 โดยวินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันยังมิได้โอนไปยังจำเลยหรือผู้เช่าซื้อนั้น จึงทำให้โจทก์ได้ทั้งรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนไปกับได้สิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญาเอกสารหมายจ.1 แก่จำเลยอีกด้วย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อยังคงมีอยู่เพียงใดจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้สมควรให้โอกาสแก่โจทก์ที่จะไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่ตามสัญญาเช่าซื้อ

Share