คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2006/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจของโจทก์ในการทำสัญญาจำนองไม่ถูกต้องหรือผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองแทนโจทก์โดยมิได้มีการมอบอำนาจตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงมีผลเท่ากับจำเลยยอมรับตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่าการทำสัญญาจำนองโจทก์มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปจดทะเบียนในฐานะผู้รับจำนองแทนโจทก์โดยถูกต้องแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องนำหนังสือมอบอำนาจมาแสดงต่อศาล และในการสืบพยานของโจทก์โจทก์ก็นำผู้รับมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนในฐานะผู้รับจำนองแทนโจทก์มาเบิกความว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในการทำสัญญาจำนองกับจำเลยด้วยแล้ว ทางนำสืบของโจทก์จึงไม่ได้ขัด ต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ 2 ครั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2535 จำนวน 25,000,000 บาทครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 3,000,000 บาทรวมเป็นเงิน 28,000,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ในการทำสัญญากู้เงินรายนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 8505 และ 8105ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันแก่โจทก์ภายหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 37,725,931.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากเงินต้น 28,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญากู้เงินและทำสัญญาจำนองไว้แก่โจทก์ สัญญาจำนองเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบโดยมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน25,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2535 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน3,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2535 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2535 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้จำนวนแรกให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เงินต้น25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2535 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วนและหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้เงินจำนวนที่ 2 แก่โจทก์ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1มีว่า โจทก์นำสืบถึงการมอบอำนาจให้ทำสัญญาจำนองขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาจำนองเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับจำนอง แต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าในการสืบพยานโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองหากโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นตัวแทนทำสัญญาจำนองโจทก์จะต้องนำพยานเข้าสืบให้ได้ว่าผู้รับมอบอำนาจของโจทก์มีอำนาจทำสัญญาจำนองหรือลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองแทนโจทก์โดยมีการมอบอำนาจกันจริง ทางนำสืบของโจทก์มิได้นำหนังสือมอบอำนาจมาแสดงต่อศาลแต่นำสืบพยานบุคคล จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่า การมอบอำนาจของโจทก์ในการทำสัญญาจำนองไม่ถูกต้อง หรือผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองแทนโจทก์โดยมิได้มีการมอบอำนาจ จึงมีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า การทำสัญญาจำนองโจทก์มอบอำนาจให้นายพนิตย์ รุดคง ไปจดทะเบียนในฐานะผู้รับจำนองแทนโจทก์โดยถูกต้องแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องนำหนังสือมอบอำนาจมาแสดงต่อศาลและในการสืบพยานของโจทก์ โจทก์ก็นำนายพนิตย์ รุดคงมาเบิกความว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในการทำสัญญาจำนองกับจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว ทางนำสืบของโจทก์หาได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 แต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share