คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์แถลง ขอส่งสัญญากู้เงินเอกสารฉบับพิพาทไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ว่าข้อความหมึกสีดำกับข้อความหมึกสีน้ำเงิน เป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต พันตำรวจโทก. ผู้เชี่ยวชาญ ของ ศาล ได้ ตรวจ พิจารณา แล้ว ลงความเห็นว่า ไม่ใช่ ลายมือ ของ บุคคล คนเดียวกัน การ ที่ ศาลชั้นต้น อนุญาต ให้ มี การ ตรวจ พิสูจน์ เอกสาร โดย ผู้เชี่ยวชาญ ตาม ความประสงค์ ของ โจทก์ และ ผู้เชี่ยวชาญ ของ ศาล ได้ ตรวจ และ ทำ ความเห็น โดย ละเอียด ชัดแจ้ง แล้ว เพียงแต่ ผู้เชี่ยวชาญ แสดงความเห็น ไม่ สม ความประสงค์ ของ โจทก์ ย่อม ไม่ เป็น เหตุ พอ ที่ จะ ให้ ผู้เชี่ยวชาญ อื่น ตรวจ พิสูจน์ เอกสาร อีก เพราะ เป็น การ ตรวจ พิสูจน์ ซ้ำ ไม่มี ผล เปลี่ยนแปลง จาก เดิม เป็นการฟุ่มเฟือย และ ประวิง คดี ให้ ล่าช้า จึงชอบ ที่ ศาล จะ มี คำสั่งยกคำร้อง ของ โจทก์ ที่ ขอ ให้ ส่ง เอกสาร ไปให้ ผู้เชี่ยวชาญ อื่นตรวจ พิสูจน์ ใหม่ ดังกล่าว จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 40,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อ ในสัญญากู้ฉบับพิพาทในช่องผู้กู้และเขียนข้อความอื่นซึ่ง เขียนด้วยหมึกสีดำส่วนจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียนแต่มีการกรอกข้อความที่ระบุจำนวนเงินเป็น 250,000 บาทกำหนดเวลาใช้คืน และดอกเบี้ย ซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินเพิ่มเติมขึ้นโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้เงินฉบับพิพาทจึงเป็นเอกสารปลอมถือว่าการกู้ยืมเงินคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2533 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 250,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2534 นับแต่กู้ยืมเงินไปจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 437,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 40,000 บาทจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความในสัญญากู้ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องยกเว้นช่องจำนวนเงินโจทก์เป็นผู้กรอกจำนวนเงิน 250,000 บาทลับหลังจำเลยโดยจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมและรู้เห็นด้วยสัญญากู้ฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมจำเลยได้ชำระเงินกู้ยืม40,000 บาท แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นตรวจพิสูจน์ใหม่ชอบหรือไม่ คดีได้ความว่า เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์แถลงขอส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2ไปให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจตรวจพิสูจน์ว่าข้อความหมึกสีดำกับข้อความหมึกสีน้ำเงินเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต พันตำรวจโทกำจร ชื่นบำรุงผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน เห็นว่า การตั้งผู้เชี่ยวชาญย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นเป็นการสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 และมาตรา 129 ถึงศาลยังไม่เป็นที่พอใจในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำเป็นหนังสือนั้น ให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้มีการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.2 โดยผู้เชี่ยวชาญตามความประสงค์ของโจทก์แล้วซึ่งผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจและทำความเห็นโดยละเอียดชัดแจ้ง เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นไม่สมความประสงค์ของโจทก์ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจเอกสารอีก เป็นการตรวจพิสูจน์ซ้ำไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นการฟุ่มเฟือยและประวิงคดีให้ล่าช้าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจพิสูจน์ใหม่อีกจึงชอบแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2533 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 250,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนในวันที่ 10 ธันวาคม 2534 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความลงในสัญญาเอง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 โดยในวันทำสัญญากู้ยืมภรรยาของจำเลยไม่ได้ไปด้วย ส่วนจำเลยมีจำเลยและนางสงค์ สมัญญาวงศ์ ภรรยาของจำเลยมาเบิกความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 40,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญาโดยใช้ปากกาลูกลื่นสีดำส่วนจำนวนเงินกำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ย ซึ่งเขียนด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียน จำเลยและนางสงค์ภรรยาของจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ด้วย เห็นว่าตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินมีการเขียนกรอกข้อความด้วยหมึกสีดำกับหมึกสีน้ำเงินเมื่อนำข้อความที่เขียนด้วยหมึกสีดำกับหมึกสีน้ำเงินดังกล่าวมาตรวจเปรียบเทียบกันแล้ว เห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษร และตัวเลขแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลเอกสารหมาย จ.3 ก็ปรากฎว่าผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน โจทก์เองก็มิได้นำสืบว่าเหตุใดจำเลยจึงใช้ปากกา 2 ด้าม เขียนกรอกข้อความในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และเหตุใดจึงมีลายมือชื่อนางสงค์ภรรยาของจำเลยไปลงชื่ออยู่ในช่องผู้กู้ ทั้ง ๆ ที่โจทก์อ้างว่าในวันทำสัญญากู้เงิน ภรรยาของจำเลยไม่ได้มาด้วย จึงน่าเชื่อตามข้อต่อสู้และการนำสืบของจำเลยว่า ได้กู้ยืมเงินโจทก์เพียง40,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และเขียนข้อความอื่นซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำ ส่วนจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียนกรณีจึงเป็นว่ามีการกรอกข้อความที่ระบุจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้กับเขียนข้อความอื่นซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำให้แก่โจทก์ไว้ซึ่งจำนวนเงินเกินไปจากความจริง โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้
พิพากษายืน

Share