คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความชำรุดบกพร่องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 หมายถึง ความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตราก่อน ๆ คือ มาตรา 598,599 และ 600 ซึ่งเป็นความ ชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาจ้างครบถ้วนแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวกขณะปลวกกัดกินผ้าดิบยังอยู่ในอายุสัญญาจ้าง ดังนั้น ตามคำฟ้อง ของโจทก์จึงเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิด ที่ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา กรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นเรื่องฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา กรณีดังกล่าวนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30นับตั้งแต่พบปลวกกัดกินผ้าดิบเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 กำจัดและป้องกันปลวก ณ สถานที่ต่าง ๆ ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ต่อมาในระหว่างอายุสัญญา โจทก์ตรวจพบว่าปลวกกัดกินผ้าดิบในคลังพัสดุเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 106,631.92 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงิน 2,832 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ผ้าดิบที่ได้รับความเสียหายเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์และผ้าดิบได้รับความเสียหายมีจำนวนเล็กน้อย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาผ้าดิบของโจทก์เอง โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ตรวจพบความเสียหายจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน106,631.92 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงิน 2,832 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 กำจัดและป้องกันปลวก ณ สถานที่ต่าง ๆของโจทก์ ตามสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวกเอกสารหมาย จ.3ต่อมาผ้าดิบของโจทก์ถูกปลวกกัดกินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 106,631.72 บาท ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 เมื่อจำเลยที่ 1ผู้รับจ้างกำจัดและป้องกันปลวก ณ สถานที่ต่าง ๆ ของโจทก์และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ชำรุดเสียหาย เนื่องจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 ซึ่งโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น หาใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะไม่เมื่อโจทก์พบความเสียหายของผ้าดิบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25ธันวาคม 2534 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 แต่เพิ่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2538 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า ความชำรุดบกพร่องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 หมายถึงความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ๆ คือ มาตรา 598, 599และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างครบถ้วนแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาที่ไม่ตรวจภายในอาคารคลังพัสดุให้ละเอียดว่ามีปลวกขึ้นหรือไม่ จึงไม่เห็นปลวกในจุดที่ปลวกกัดกินผ้าดิบของโจทก์และไม่จำกัดปลวกให้หมดสิ้นกับไม่ใส่ยาเคมีป้องกันมิให้ปลวกขยายพันธุ์ให้ทั่วบริเวณสถานที่ดังกล่าว ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวกเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 5 ทั้งที่ขณะปลวกกัดกินผ้าดิบยังอยู่ในอายุสัญญาจ้างดังกล่าว ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดที่ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญากรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 601 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญาจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ผ้าดิบของโจทก์ถูกปลวกกัดกินเสียหายแก่โจทก์ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และนับแต่วันที่โจทก์พบปลวกกัดกินผ้าดิบเสียหายถึงวันฟ้องคดียังไม่พ้นกำหนด10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share