แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจกระทำการแทนองค์การจำเลยฐานะระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์พ้นตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ถือเป็นการเลิกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชย เงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์พนักงานตามข้อบังคับของจำเลยที่ให้ถือเป็นเงินชดเชย ก็ไม่ใช่เงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยยังต้องจ่ายแก่โจทก์
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยแก่โจทก์ตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการของจำเลย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 24,850บาท มีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลย และมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ต่อมาโจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และได้รับบำเหน็จเป็นเงิน 400,000 บาทเศษ ตามข้อบังคับขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2522 ไปแล้วบำเหน็จนี้ตามข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานมีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องหรือไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้าง มิใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยนั้น แม้โจทก์จะมีฐานะเป็นนายจ้างตามคำนิยามของนายจ้างในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ก็เป็นนายจ้างของพนักงานของจำเลยมิใช่เป็นนายจ้างของจำเลย สำหรับฐานะระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยตามคำนิยามของลูกจ้างในประกาศข้อที่กล่าวข้างต้น
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ต้องพ้นตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นการเลิกจ้างอันจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เห็นว่าการที่โจทก์ต้องพ้นตำแหน่งดังกล่าว เป็นการเลิกจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 อันผู้ถูกเลิกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชย
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า บำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้วนั้นถือว่าเป็นค่าชดเชยตามข้อบังคับขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2522 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยแล้วจะเรียกค่าชดเชยอีกไม่ได้ เห็นว่าสิทธิที่จะได้บำเหน็จดังกล่าวมีหลักเกณฑ์แตกต่างกับสิทธิที่จะได้ค่าชดเชย โดยผู้ที่ตายหรือลาออกก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จและผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ออกคือเลิกจ้างต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ แต่สำหรับค่าชดเชยนั้น ผู้ที่ตายหรือลาออกไม่มีสิทธิได้รับ และผู้ที่ถูกเลิกจ้างมีเวลาทำงานติดต่อกันครบ 120 วันก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จกับค่าชดเชยจึงไม่ใช่เงินประเภทเดียวกัน แม้ข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นจะให้ถือว่าบำเหน็จเป็นค่าชดเชยก็ไม่มีผล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยแล้ว”
พิพากษายืน