แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่กระทำโดยการโฆษณาทาง หนังสือพิมพ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ย่อมเป็น ความผิดสำเร็จเมื่อมีการวางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และท้องที่ ที่ความผิดเกิดขึ้นย่อมได้แก่ท้องที่ทุกท้องที่ที่วางจำหน่าย หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น หาใช่จำกัดเฉพาะท้องที่ที่โจทก์ ได้อ่านหนังสือพิมพ์และทราบการกระทำความผิดไม่ คดีทั้งสามสำนวนนี้ คู่ความทั้งหมดเป็นคู่ความรายเดียวกัน ทั้งการพิจารณาคดีเหล่านั้นถ้าได้รวมกันแล้วจะเป็นการสะดวก เมื่อโจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีรวมกันศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกันและมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีเหล่านั้นรวมกันแล้ว ข้อเท็จจริงใดที่ได้จากการพิจารณา จึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสามสำนวนการฟังพยานหลักฐาน ก็ต้องฟังรวมกันไปทั้งสามสำนวนประดุจเป็นคดีเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28 วรรคแรกประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15หาใช่แยกฟังเป็นรายสำนวนไม่ จำเลยลงพิมพ์โฆษณาใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ ด.ฉบับที่ 153,154 และ 156 โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นข่าว หลังจากที่โจทก์ทราบข่าวที่จำเลยเสนอในฉบับที่ 153 แล้ว ธนาคาร ก. ได้ออกแถลงการณ์2 ฉบับ ยืนยันว่าไม่ได้ไล่โจทก์ออกและโจทก์ไม่มีพฤติการณ์เสื่อมเสียในการทำงาน แต่ได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา แต่จำเลยก็ยังลงข่าวในฉบับที่ 154 ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอม และยังคงยืนยันใส่ความโจทก์เพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ จำเลยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะพิมพ์โฆษณาข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวเสียก่อน โดยมุ่งแต่จะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ให้ได้จำนวนมากเป็นสำคัญ ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาตามฟ้อง จึงเป็น ข้อความที่จำเลยมิได้แสดงโดยสุจริต การกระทำของจำเลย จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่จะไม่มีความผิด และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคแรก ที่จะไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ จำเลยได้เสนอข่าวลงในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ จำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 153 ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 2539ถึงวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2539 มีใจความว่า นายเกริกเกียรติชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ตัดสินใจไล่โจทก์ออกจากธนาคารอย่างกะทันหันเนื่องจากปล่อยหนี้เสียนับพันล้านและนำข้อมูลไม่ดีของธนาคารให้สื่อมวลชนเพื่อโจมตีธนาคาร ฉบับที่ 154 ประจำวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2539ถึงวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2539 มีใจความว่า โจทก์คงถูกลงโทษอย่างรุนแรงแน่นอนเนื่องจากปัญหาหนี้เสียนับพันล้านบาทซึ่งปล่อยสินเชื่อไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและให้ข่าวแก่สื่อมวลชนโจมตีธนาคาร เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ถือหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งและฉบับที่ 156 ประจำวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2539 ถึงวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 มีใจความว่า การปล่อยสินเชื่อที่ไม่ถูกต้องของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกจากธนาคารกำลังพิจารณาโทษแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยยังเตรียมลงโทษด้วยนอกจากนี้การดำเนินการเพื่อเร่งรัดหนี้สินของโจทก์ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กลับเป็นผลเสียแก่ธนาคาร เพราะนอกจากจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนแล้วยังเป็นการหาวิธีปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นการเสนอข่าวดังกล่าวของจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเท็จทั้งสิ้น และการเสนอข่าวดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หรือรายสามวันคือดอกเบี้ยธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฐานเศรษฐกิจ วัฏจักร ติดต่อกัน 5 ฉบับ (สำนวนแรก) และ 10 ฉบับ (สำนวนที่สองและที่สาม) และหนังสือพิมพ์รายวันคือ มติชน ไทยรัฐ ข่าวสด เดลินิวส์ สยามโพสต์ ผู้จัดการ กรุงเทพธุรกิจ วัฏจักร สยามรัฐ บ้านเมือง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน (สำนวนแรก) และ 30 วัน (สำนวนที่สองและที่สาม) โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากไม่สามารถลงโฆษณาได้ในฉบับใดฉบับหนึ่ง ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือฉบับอื่นตามที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 91 พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 48 รวม 3 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือนและปรับกระทงละ 30,000 บาท รวมลงโทษจำคุก 9 เดือน และปรับ 90,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือดอกเบี้ยธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจผู้จัดการรายสัปดาห์และมติชนรายวัน 7 ครั้ง ติดต่อกันด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวไม่ได้ให้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นตามที่โจทก์กำหนดขอมาในคำฟ้องแทนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ควบคุมฝ่ายพัฒนาสินทรัพย์ ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายคอมพิวเตอร์ และสำนักควบคุมสินเชื่อ ไม่มีอำนาจหน้าที่ให้สินเชื่อเพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายวาณิชธนกิจ จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ซึ่งวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรไทยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ลงพิมพ์และโฆษณาเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 จ.9 และ จ.10 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีทั้งสามสำนวนนี้ต่อศาลอาญาได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ที่บัญญัติให้ฟ้องคดีต่อศาลที่ความผิดเกิดขึ้น จำเลยเห็นว่า “ความผิด” ที่เกิดขึ้นจนโจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีทั้งสามสำนวนนี้จะต้องเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจริง อันหมายถึงโจทก์ได้ทราบว่ามีการกระทำความผิดนี้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งใด ซึ่งก็คือโจทก์ได้อ่านหนังสือพิมพ์และทราบการกระทำความผิดขึ้นที่ไหนนั่นเองนั้น เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการวางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นย่อมได้แก่ท้องที่ทุกท้องที่ที่วางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นหาใช่จำกัดเฉพาะท้องที่ที่โจทก์ได้อ่านหนังสือพิมพ์และทราบการกระทำความผิดดังที่จำเลยฎีกาไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจำเลยก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า “ยอดจำหน่ายของหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ทั่วประเทศประมาณ 30,000 ฉบับ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ยอดจำหน่ายสูงถึง 20,000 กว่าฉบับ และมีวางจำหน่ายทั่วทุกแผงหนังสือในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งท้องที่ในเขตอำนาจของศาลอาญาด้วย” ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีทั้งสามสำนวนนี้ต่อศาลอาญาได้
ฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานหมาย จ.3 จ.9 และ จ.10เชื่อมโยงกันนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันแม้มีการพิจารณาคดีทั้งสามสำนวนรวมกัน แต่การรับฟังพยานหลักฐานในแต่ละคดียังคงต้องแยกกันพิจารณานั้น เห็นว่า คดีทั้งสามสำนวนนี้คู่ความทั้งหมดเป็นคู่ความรายเดียวกัน ทั้งการพิจารณาคดีเหล่านั้นถ้าได้รวมกันแล้วจะเป็นการสะดวกเมื่อโจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีรวมกัน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกันและมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีเหล่านั้นรวมกันแล้ว ข้อเท็จจริงใดที่ได้จากการพิจารณาจึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสามสำนวนการฟังพยานหลักฐานก็ต้องฟังรวมกันไปทั้งสามสำนวนประดุจเป็นคดีเดียว หาใช่แยกฟังเป็นรายสำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 28 วรรคแรก ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 แล้ว
ฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าการที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาข้อความในเอกสารหมาย จ.3 จ.9และ จ.10 เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329และ 330 เนื่องจากข้อความที่จำเลยได้ต่อสู้และเบิกความพิสูจน์ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมนั้น เห็นว่าเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาว่า ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาในเอกสารหมาย จ.3 จ.9 และ จ.10 ไม่เป็นความจริง จำเลยลงพิมพ์โฆษณาใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ ฉบับที่ 153, 154 และ 156 โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นข่าว หลังจากที่โจทก์ทราบข่าวที่จำเลยเสนอในฉบับที่ 153 แล้ว ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ยืนยันว่าไม่ได้ไล่โจทก์ออกและโจทก์ไม่มีพฤติการณ์เสื่อมเสียในการทำงาน แต่ได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 แต่จำเลยก็ยังลงข่าวในฉบับที่ 154 ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอมและยังคงยืนยันใส่ความโจทก์เพิ่มขึ้นอีกเช่นเดียวกับฉบับที่ 156 ทั้งนี้ จำเลยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะพิมพ์โฆษณาข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวเสียก่อนโดยมุ่งแต่จะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ให้ได้จำนวนมากเป็นสำคัญ ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาตามฟ้อง จึงเป็นข้อความที่จำเลยมิได้แสดงโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่จะไม่มีความผิด และไม่ต้องด้วยมาตรา 330 วรรคแรก ที่จะไม่ต้องรับผิด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน