แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจแอบดูเห็นจำเลยที่ 1 ยืนพูดโทรศัพท์ จำเลยที่ 2 ยืนอยู่กลางห้อง เจ้าพนักงานตำรวจเคาะประตู ให้เปิดประตู จำเลยที่ 2 ตะโกนบอกจำเลยที่ 1 ว่า “ตำรวจมา” แล้วจำเลยที่ 1 หยิบถุงพลาสติกเข้าไปในห้องน้ำและ ทิ้งถุงพลาสติก 11 ถุงที่ภายในบรรจุเมทแอมเฟตามีนลงในโถส้วม ขณะนั้นจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปในห้องนอนไม่ได้เข้าไปมีส่วน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการซุกซ่อนหรือทำลายเมทแอมเฟตามีน หรือช่วยปกปิดการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 การที่ จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า “ตำรวจมา” ไม่ได้หมายความว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด เพราะเป็นการ ตะโกนบอกไปตามความเป็นจริง และไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆจากจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดมา จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน 3,500 บาท จำเลยรับว่าได้เงินดังกล่าวมาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนที่ถูกจับในคดีนี้เงินสดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดกฎหมายแม้จะไม่ได้มาโดยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในคดีนี้โดยตรงก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน 3,500 บาท ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งจำคุก 30 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปีริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองกล่าวหาว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1(เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกจีระเลาหบุตร กับสิบตำรวจเอกปริญญา วรรณทอง ผู้ร่วมตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความได้ความว่าขณะที่เข้าจับกุมจำเลยทั้งสองได้แอบดูเห็นจำเลยที่ 1 ยืนพูดโทรศัพท์อยู่ในห้องนั่งเล่นติดกับห้องครัวหลังบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 ยืนอยู่กลางห้องนั่งเล่นสิบตำรวจเอกปริญญาเคาะประตูบอกให้จำเลยทั้งสองเปิดประตูได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนบอกจำเลยที่ 1 ว่า ตำรวจมาจำเลยที่ 1 ได้วางหูโทรศัพท์แล้วหยิบถุงพลาสติกเดินเข้าไปในห้องน้ำจากนั้นจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปในห้องนอน เห็นว่า จำเลยที่ 2ไม่ได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการซุกซ่อนหรือทำลายเมทแอมเฟตามีนของกลาง หรือช่วยปกปิดการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 2ตะโกนบอกว่า “ตำรวจมา” ก็ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพราะจำเลยที่ 2 ตะโกนบอกไปตามความเป็นจริง นอกจากนั้นในขณะจับกุม การตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าเงินสดของกลางจำนวน 3,500 บาท เป็นทรัพย์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) หรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ พร้อมกับยึดได้เงินสดจำนวน 3,500 บาทจากจำเลยที่ 1 และในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 รับว่าเงินสดจำนวน 3,500 บาท ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนที่ถูกจับในคดีนี้ แสดงว่าเงินสดจำนวน 3,500 บาทของกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มาโดยการกระทำความผิดเพราะการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแม้จะไม่ได้มาโดยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้โดยตรงก็ตามศาลก็มีอำนาจริบเงินสดจำนวน 3,500 บาท ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ริบเงินสดจำนวน 3,500 บาท ของกลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินสดจำนวน 3,500 บาท ของกลางด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์