คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และยึดได้เงินสด จำนวน 5,470 บาท ซึ่งปะปนอยู่กับเงินจำนวนอื่นที่สายลับ นำไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยรับว่าเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลาง จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับจำเลย ดังนี้ เงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มา โดยการกระทำความผิด เพราะการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลย ในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย แม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลาง ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ก็ตาม แต่การริบทรัพย์สิน เป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่จะริบทรัพย์สินตามที่ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางมาแล้วและของกลาง ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิด แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาด้วย และเป็นเงินของกลางที่ไม่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในคดีนี้โดยตรงก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลางได้ ตามมาตรา 33(2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 186 เม็ด น้ำหนักรวม 16.46 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน10 เม็ด น้ำหนักรวม 0.90 กรัม ให้แก่ผู้มีชื่อโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อฉบับละ 500 บาทจำนวน 1 ฉบับ ฉบับละ 100 บาท จำนวน 3 ฉบับ เมทแอมเฟตามีนจำนวน 186 เม็ด และเงินสดจำนวน 5,470 บาท ซึ่งจำเลยรับว่าได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีหมายเลขแดงที่ 2110/2540 ของศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลางและบวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นจำเลยในคดีที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้จริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 2110/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้เป็นจำคุก 6 ปี 12 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเงิน 5,470 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดในคดีนี้จึงไม่อาจริบได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้ว่า เงินสดของกลางจำนวน 5,470 บาท เป็นทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 บัญญัติว่า”ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และยึดได้เงินสดจำนวน 5,470 บาท ซึ่งปะปนอยู่กับเงินจำนวน 800 บาท ที่สายลับนำไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยรับว่าเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลางจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับจำเลย ดังนี้ ฟังได้ว่าเงินสดจำนวน5,470 บาท ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดเพราะการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดจำนวน5,470 บาท ของกลาง ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ตามที่โจทก์ขอ ซึ่งเป็นบทเฉพาะที่กำหนดให้ริบทรัพย์สินได้เฉพาะเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ตามแต่การริบทรัพย์สินเป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่จะริบทรัพย์สินตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางมาแล้วและของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิดแม้ฟ้องโจทก์จะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาด้วยและเป็นเงินของกลางที่ไม่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้โดยตรงก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินสดจำนวน 5,470 บาท ของกลางด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share