คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในระหว่างที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ม. มารดาผู้ตายเป็นผู้ดูแลให้การอุปการะแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามของผู้ตายมาโดยตลอด หลังจากผู้ตายตายได้เพียงไม่กี่วันญาติผู้คัดค้านได้รับ ตัวบุตรผู้เยาว์ทั้งสามของผู้ตายไป ทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ขณะนั้นยังไม่ทราบข่าวการตายของผู้ตาย แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลที่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยลำพังแต่ผู้เดียว นอกจากนั้นยังได้ความว่าในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าผู้ตาย คดีอยู่ระหว่าง พิจารณานั้น ผู้ร้องได้คัดค้านการขอประกันตัวต่อของผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ในเมื่อคดีมีผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เพียงสองคนเท่านั้นขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อคำนึงถึงสาเหตุ การตายของผู้ตายและพฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ปรากฏในคดีอาญา แล้วถือว่าคนทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในระหว่างที่คดีอาญา ยังไม่ถึงที่สุดถ้าจะให้จัดการมรดกร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 การจัดการมรดก คงจะไม่เป็นผลดีแก่กองมรดกและแก่ประโยชน์ของทายาท ผู้ตายเพราะจะทำให้การดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์เพื่อ จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกหรือทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและ แบ่งปันมรดกล่าช้าได้ แม้ผู้ร้องมีอายุมาก พูดและเขียนภาษาไทยไม่สะดวก ก็ไม่เป็นเหตุต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นางเรวดี ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกับนางมาลี ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุถูกฆาตกรรม ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและมีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้คัดค้านอยู่กินกับผู้ตายมาก่อนย่อมทราบว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอะไรบ้างและสามารถรวบรวมมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ดีกว่าผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งนายวิบูลย์ เจียมบูรพาเลิศผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเรวดี เชิญวิริยะกุล ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเรวดี เชิญวิริยะกุล ส่วนผู้คัดค้านเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเรวดี และมีบุตรด้วยกันคือนางสาวสมฤดี เชิญวิริยะกุล อายุ 18 ปี นายเรวัตร เชิญวิริยะกุล อายุ 18 ปี และเด็กหญิงอภิญญา เชิญวิริยะกุล อายุ 12 ปี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 นางเรวดีถูกฆาตกรรม ขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นมีทรัพย์สินเป็นมรดกคือที่ดิน 1 แปลง และทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการซึ่งมีมูลค่าประมาณ 21,000,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.7 และ ร.8 ต่อมาวันที่4 กรกฎาคม 2539 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรีในความผิดฐานฆ่าผู้ตาย ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ร.12 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า มีเหตุสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ดังนั้นจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกซึ่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสามของผู้ตายมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย อันเป็นข้อสำคัญที่ต้องวินิจฉัยประกอบคำร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายและได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายมานานถึง 20 ปี แต่ตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายภายหลังเกิดเหตุนานกว่า 2 เดือน โดยอ้างว่าขณะผู้ตายถูกฆ่าตายผู้คัดค้านไปประกอบกิจการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดเพชรบุรีและตอนจัดการงานศพกับทำบุญ 100 วันนั้นผู้คัดค้านก็ไม่ทราบเช่นกันทั้งได้ฎีกาคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แสดงชัดว่าระหว่างที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ผู้ตายกับผู้คัดค้านมิได้อยู่ร่วมกันตามปกติสุขผิดวิสัยสามีภริยาที่จะต้องติดต่อสัมพันธ์กันฉันสามีภริยา ส่วนความใกล้ชิดกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสามในระยะ 100 วันหลังจากผู้ตายตายนั้นผู้คัดค้านน่าจะได้ติดต่อหรือช่วยเหลืออุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสามจึงไม่ทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายทั้งที่ผู้คัดค้านอ้างว่าขณะผู้ตายตาย ผู้คัดค้านประกอบกิจการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครอันเป็นที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามและการติดต่อโทรคมนาคมระหว่างจังหวัดในปัจจุบันสะดวกเพียงพอที่จะติดต่อกันได้ แต่ผู้คัดค้านกลับไม่ทราบข่าวผู้ตายจากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเป็นเวลาอย่างน้อย 100 วันได้ความจากคำเบิกความของนางมาลี เจียมบูรพาเลิศ มารดาผู้ตายโดยผู้คัดค้านมิได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่นฟังได้ว่า ในระหว่างที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่นางมาลีเป็นผู้ดูแลให้การอุปการะแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามของผู้ตายมาโดยตลอดหลังจากผู้ตายตายได้เพียงไม่กี่วันญาติผู้คัดค้านได้รับตัวบุตรผู้เยาว์ทั้งสามของผู้ตายไปทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าขณะนั้นยังไม่ทราบข่าวการตายของผู้ตายพฤติการณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลที่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยลำพังแต่ผู้เดียว นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังได้ความว่าในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าผู้ตาย คดีอยู่ระหว่างพิจารณานั้นผู้ร้องได้คัดค้านการขอประกันตัวต่อของผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ดังที่ปรากฏในสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ร.12 ในเมื่อคดีมีผู้ร้องกับผู้คัดค้านเพียงสองคนเท่านั้นขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อคำนึงถึงสาเหตุการตายของผู้ตายและพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีอาญาตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ร.12 แล้วถือว่าคนทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในระหว่างคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ถ้าจะให้จัดการมรดกร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 การจัดการมรดกคงจะไม่อาจถือเสียงข้างมากได้ การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องย่อมจะไม่เป็นผลดีแก่กองมรดกและแก่ประโยชน์ของทายาทผู้ตายเพราะจะทำให้การดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกหรือทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกล่าช้าได้ ส่วนการที่ผู้ร้องระบุรายการทรัพย์มรดกในคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ครบถ้วนไม่ใช่ข้อสำคัญในคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาไม่สุจริตในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและแม้ผู้ร้องมีอายุมาก พูดและเขียนภาษาไทยไม่สะดวกก็ไม่เป็นเหตุต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องไม่แจ้งเรื่องการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกให้ทราบนั้นปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539หลังจากผู้ตายตายได้ 16 วัน แต่ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าผู้คัดค้านไม่ได้ทราบข่าวว่าผู้ตายตายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า100 วัน โดยอ้างว่าผู้คัดค้านไปอยู่เสียที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดเพชรบุรี จึงแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าผู้ร้องไม่สามารถติดต่อแจ้งเรื่องแก่ผู้คัดค้านได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share