แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกขับรถจักรยานยนต์ของกลางแล่นตามรถยนต์ ผู้เสียหายจนทันแล้วแซงขึ้นหน้าไปจอดขวางให้หยุด กับขู่เข็ญ ผู้เสียหายจนยอมมอบเงินแก่จำเลยกับพวกรถจักรยานยนต์ของกลาง จึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ก่อนที่จะกระทำความผิด ฐานกรรโชก อีกทั้งจำเลยกับพวกก็ร่วมกันขู่เข็ญผู้เสียหายว่า หากไม่ยอมให้เงินจำเลยกับพวกจะทำการระเบิดและพังรถยนต์ ของผู้เสียหายเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงหาใช่ทรัพย์ ที่จำเลยกับพวกได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกรรโชกทรัพย์ไม่ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91, 337 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 7, 37 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 220 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 (ที่ถูกมาตรา 337 วรรคหนึ่ง) จำคุก 3 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 7, 37 ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 10,000บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 220 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ และคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนใจนางสาวเตือนใจ โกงขุนทดผู้เสียหาย ให้ยอมให้จำเลยกับพวกได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บุรีรัมย์ ป-9053 และรถจักรยานยนต์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน เป็นยานพาหนะขับแล่นตามรถยนต์หมายเลขทะเบียน ง-6059กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นผู้ขับจนทันแล้วแซงขึ้นหน้าไปจอดขวางรถยนต์คันที่ผู้เสียหายขับเพื่อให้ผู้เสียหายหยุดรถ เมื่อผู้เสียหายหยุดรถยนต์จำเลยกับพวกได้ร่วมกันขู่เข็ญผู้เสียหายว่า หากผู้เสียหายไม่ยอมมอบเงินจำนวน 4,000 บาทให้แก่จำเลยกับพวก จำเลยกับพวกจะทำอันตรายรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยจะทำการระเบิดและพังรถยนต์จนผู้เสียหายเกิดความกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงยอมมอบเงินจำนวน 1,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไป เจ้าพนักงานจับจำเลยได้กับยึดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บุรีรัมย์ ป-6053(ที่ถูก ป-9053) เป็นของกลาง เห็นว่า จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะขับแล่นตามรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับจนทันแล้วแซงขึ้นหน้าไปจอดขวางให้หยุดรถรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ก่อนที่จะกระทำความผิดฐานกรรโชก อีกทั้งในการกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยกับพวกก็ร่วมกันขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากไม่ยอมให้เงินจำเลยกับพวกจะทำการระเบิดและพังรถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงหาใช่ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกรรโชกทรัพย์คดีนี้ไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์สิน ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1