คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยที่ 1 ลักอาวุธปืนของผู้เสียหายไปจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันจับกุมเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตลอดเวลาที่ครอบครองอาวุธปืนอยู่จนกระทั่ง ถูกจับกุม ส่วนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิด ในขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็น ความผิดหลายกรรมต่างกัน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลักอาวุธปืนของนายจ้างแล้วครอบครองพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะใช้อาวุธปืนดังกล่าว นับว่าเป็นภัยต่อความปลอดภัยของสุจริตชนโดยทั่วไป และกระทบต่อ ความสงบเรียบร้อยของสังคม สมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาด จึงไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 371, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ชั่วคราว และให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2เข้ามาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้าง จำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟังว่า อาวุธปืนของผู้เสียหายตามฟ้องถูกคนร้ายลักไปตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2539 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้พร้อมอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 หลังจากวันที่อาวุธปืนถูกลักไปนานถึง1 ปีเศษ โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหลายกรรมเมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ลักอาวุธปืนของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันถูกจับกุมเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตลอดเวลาที่ครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวอยู่จนกระทั่งถูกจับกุม ส่วนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้นเป็นความผิดในขณะใดขณะหนึ่งตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเท่านั้นดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษด้วยนั้นเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลักอาวุธปืนของนายจ้างแล้วครอบครองอาวุธปืนพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวนับว่าเป็นภัยต่อความปลอดภัยของสุจริตชนทั่วไป และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม สมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share