คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นจับกุมและชิ้นสอบสวนของจำเลยประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่เหตุผลของคำให้การนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังคำชัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นพยานหลักฐาน เพียงแต่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยต้องรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ด้วย จึงจะมีน้ำหนักรับฟังเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดคนอื่นได้ โจทก์มีร้อยตำรวจโทฉ.พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ให้การ รับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจตามเอกสาร หมาย จ.10 ถึง จ.12 ส่วนจำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ ในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.4 และให้การภาคเสธ ตามเอกสารหมาย จ.14 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้นำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.17 และแสดงท่าทางให้ถ่ายภาพประกอบคำให้การรับสารภาพตามภาพถ่ายหมาย จ.18ซึ่งกระทำต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก เชื่อได้ว่าให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ คำให้การของจำเลยแต่ละคนกล่าวถึงข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดและระบุชัดว่าจำเลยแต่ละคนร่วมกับ บ. ในการเคลื่อนย้ายศพผู้ตาย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของสิบตำรวจตรีธ.ผู้ไปตรวจดูสภาพหลุมศพว่าได้ขุดพบโครงกระดูกของผู้ตายประกอบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ล้วนแต่สนิทสนมกับบ.ผู้ต้องหาในคดีฆ่าส.ผู้ตายโดยเจตนา และจำเลยที่ 5 เป็นภริยาของบ.เช่นนี้พฤติการณ์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีเจตนาเคลื่อนย้ายศพส. เพื่อช่วยบ. จริง ในการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้ฟังคำซัดทอดของร.และน.เพียงอย่างเดียว แต่โจทก์มีพยานวัตถุและคำให้การรับสารภาพของ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในชั้นจับกุม คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ 3 ในชั้นสอบสวน และบันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพกับภาพถ่ายการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพเป็นพยานหลักฐาน ย่อมฟังได้โดย ปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 ได้เคลื่อนย้ายศพส.เพื่อปิดบังการตายหรือสาเหตุแห่งการตายของส.ตามฟ้อง ดังนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว เมื่อกรณีมีเหตุอันสมควรปรานีรอการลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 และการรอการลงโทษ ดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาจึงมีอำนาจ พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอ การลงโทษดุจจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบ ด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 184, 189, 199 ริบจอบ 1 เล่มคืนโครงกระดูก 1 กระสอบ เสื้อ 1 ตัว เข็มขัด 1 เส้น แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ข้อแรกมีว่า โครงกระดูกของกลางเป็นโครงกระดูกของนายสงัด แก้วเกิดหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าโครงกระดูกของกลางเป็นโครงกระดูกของนายสงัดจริง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ประการที่สองมีว่า คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะนำมาประกอบการพิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยประกอบการพิจารณาของศาลส่วนจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่เหตุผลของคำให้การนั้น สำหรับคดีนี้โจทก์มีร้อยตำรวจโทเฉลิมชัยพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 ส่วนจำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.4 และให้การภาพเสธ ตามเอกสารหมาย จ.14 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้นำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.17 และแสดงท่าทางให้ถ่ายภาพประกอบคำให้การรับสารภาพตามภาพถ่ายหมาย จ.18 ซึ่งกระทำต่อหน้าประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจคำให้การของจำเลยแต่ละคนกล่าวถึงข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด และระบุชัดว่าจำเลยแต่ละคนร่วมกับนายบรรเทาในการเคลื่อนย้ายศพผู้ตายซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของสิบตำรวจตรีธวัชชัยผู้ไปตรวจดูสภาพหลุมศพว่าได้ขุดพบโครงกระดูกของผู้ตาย ประกอบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ล้วนแต่สนิทสนมกับนายบรรเทาผู้ต้องหาในคดีฆ่านายสงัดผู้ตายโดยเจตนา และจำเลยที่ 5เป็นภริยาของนายบรรเทาพฤติการณ์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีเจตนาเคลื่อนย้ายศพนายสงัดเพื่อช่วยนายบรรเทาจริงตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ประการที่สามมีว่า คำซัดทอดของนายเริงศักดิ์และนายรักสินซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจะฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้หรือไม่ เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นพยานหลักฐานเพียงแต่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย ต้องรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ด้วย จึงจะมีน้ำหนักรับฟังเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดคนอื่นได้ คดีนี้ในการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลมิได้ฟังคำซัดทอดของนายเริงศักดิ์และนายรักสินเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์มีพยานวัตถุและคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในชั้นจับกุม คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ 3 ในชั้นสอบสวนและบันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพกับภาพถ่ายการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพเป็นพยานหลักฐาน พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้เคลื่อนย้ายศพนายสงัด เพื่อปิดบังการตายหรือสาเหตุแห่งการตายของนายสงัดตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า กรณีมีเหตุอันสมควรปรานีรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 และการรอการลงโทษดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอการลงโทษดุจจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225 และเห็นว่าจำเลยทั้งห้าต้องขังในระหว่างการพิจารณาคดีนานพอสมควรที่จะทำให้จำเลยทั้งห้าหลาบจำแล้ว จึงไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลยทั้งห้าอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกของจำเลยทั้งห้าให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share