คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7512/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ว. ได้ยึดรถคันที่จำเลยเช่าซื้อไปจากโจทก์คืนมาแล้วตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยเชื่อพยานหลักฐานของจำเลยหรือไม่ และหากเป็นไปดังที่จำเลยอ้างโจทก์ก็จะไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์นั้นเมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ทราบมาก่อนแล้วตั้งแต่จำเลยเบิกความพร้อมทั้งแสดงเอกสารประกอบข้ออ้างดังกล่าวในชั้นพิจารณา ดังนี้หากโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ในเรื่องนี้โจทก์ก็ควรจะหาข้อมูลได้ตั้งแต่ได้ฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวจึงมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่โจทก์จะอาศัยมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 64,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2539โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วันนับแต่วันครบกำหนด (วันที่ 30 กันยายน 2539) โดยอ้างว่าคำพิพากษาของศาลยังพิมพ์ไม่เสร็จ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาล ศาลอนุญาตครั้นถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2539โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด (วันที่ 30 ตุลาคม 2539) อ้างว่าโจทก์กำลังติดตามนายวีระศักดิ์ ทัศนสุวรรณ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยึดรถที่เช่าซื้อดังกล่าว แต่นายวีระศักดิ์ได้ลาออกจากบริษัทโจทก์ไปแล้ว ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้องโดยเห็นว่าเป็นเหตุผลที่โจทก์สามารถตรวจสอบได้ก่อนฟ้องคดีอยู่แล้ว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์มีพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่านายวีระศักดิ์ ทัศนสุวรรณได้ยึดรถคันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์คืนมาแล้วตามที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาโดยเชื่อพยานหลักฐานของจำเลยและหากเป็นไปดังที่จำเลยอ้างโจทก์ก็จะไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ว่านายวีระศักดิ์จะยึดรถคืนมาจากจำเลยที่ 1 เป็นความจริงหรือไม่อย่างไรเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องการตรวจสอบก่อนยื่นอุทธรณ์จึงเป็นพฤติการณ์พิเศษนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์มาแล้วเป็นเวลา 30 วันนับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ (วันที่ 30 กันยายน 2539)โจทก์จึงมีเวลาที่จะตระเตรียมหาข้อเท็จจริงในการยื่นอุทธรณ์ถึง1 เดือน และข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าจะต้องสอบจากนายวีระศักดิ์ว่ายึดรถคืนจากจำเลยมาแล้วจริงหรือไม่ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ทราบมาก่อนแล้วตั้งแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความในเรื่องนี้พร้อมทั้งแสดงเอกสารประกอบข้ออ้างดังกล่าว และในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยเชื่อว่านายวีระศักดิ์ได้ยึดรถคันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 แล้วจริง ข้อที่โจทก์อ้างว่าคำพิพากษาของศาลพิมพ์ล่าช้านั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเพราะหากโจทก์ต้องการจะยื่นอุทธรณ์ในเรื่องนี้ โจทก์ก็ควรจะหาข้อมูลได้ตั้งแต่ได้ฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวจึงมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่โจทก์จะอาศัยมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ได้
พิพากษายืน

Share