คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6810/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าอาวาสของวัดจำเลยที่ 1 เพียงแต่มอบอำนาจให้ อ.ไปติดต่อเรียกร้องเงินค่าผาติกรรมจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจนเสร็จเรื่องเท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงที่ว่าจะให้เงินเป็นค่าตอบแทนเพื่อการนั้นแก่ อ. เลย ส่วนเอกสารข้อตกลงว่าจะให้เงินค่าตอบแทนแก่ อ. นั้น เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ตามเอกสารดังกล่าวคงมีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อความระบุว่าเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการติดตาม เรื่องที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ถูกเวนคืนจนแล้วเสร็จนั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือ มอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อีกทั้งเจ้าอาวาส ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบเรื่องข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าว และไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 4 ไปดำเนินการ เรียกค่าตอบแทนดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากมีมติของ มหาเถรสมาคมซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2507 ว่า เงินค่าผาติกรรม ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในการใดได้ นอกจากจะนำผลประโยชน์ ของเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้เท่านั้น และมติดังกล่าวปัจจุบัน ก็ยังใช้บังคับอยู่ เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับรู้ หรือได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพัน และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 2 แม้มีตำแหน่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 แต่ก็มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมตกลงที่จะให้เงิน ค่าตอบแทนแก่ อ. ตามข้อตกลงดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น แม้ว่าจะลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกข้อตกลง ตามเอกสารดังกล่าวแต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า กระทำไปในฐานะ ที่เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น อ. ย่อมทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 และ เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับรู้หรือให้สัตยาบันแก่ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจาก อำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น แม้จะมีตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการฝ่ายฆราวาสของกองจัดการรายได้ และผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน จำเลยทั้งห้ามีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นใน ปัญหาข้อกฎหมายแม้ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวมา ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน1,734,411 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายอุดม แตงเงิน เมื่อปี 2483กรมทางหลวงได้เวนคืนที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่เศษ ของจำเลยที่ 1เพื่อสร้างถนน โดยกรมทางหลวงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรมให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงมีการติดตามเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรมเพื่อให้ได้จำนวนที่เป็นธรรมเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 ให้นายอุดม แดงเงินเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรมของจำเลยที่ 1 จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตลอดจนลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้ได้จนเสร็จสิ้นต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งกองจัดการรายได้และผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ขึ้นตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 โดยมีพระเทพรัตนดิลกเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และจำเลยที่ 5เป็นประธานฝ่ายฆราวาส แล้วได้มอบให้กองจัดการรายได้และผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ติดตามดูแลเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรมดังกล่าวด้วย หลังจากนั้นคณะกรรมการกองจัดการรายได้และผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ได้ประชุมมอบหมายให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป จนเมื่อปี 2534 กรมทางหลวงยินยอมจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรม ให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราตารางวาละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 11,721,500 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2530 เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1ได้มอบหมายให้นายอุดมเป็นผู้ดำเนินการติดตามเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินหรือค่าผาติกรรมของจำเลยที่ 1 จากกรมทางหลวง โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มาติดต่อนายอุดมในการแต่งตั้งดังกล่าวได้มีการทำหนังสือมอบอำนาจไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 และทำบันทึกข้อตกลงไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีใจความสำคัญว่าให้นายอุดม ติดตามเรียกร้องเงินค่าผาติกรรมจนแล้วเสร็จส่วนค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการให้นายอุดมทดรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกคืนภายหลังเมื่อเรื่องเสร็จสิ้น และในการติดตามเรียกร้องเงินดังกล่าวหากได้รับเงินเกิน 10,000,000 บาทส่วนที่เกินให้เป็นของนายอุดมกับพวก หากได้รับเงินไม่ถึง10,000,000 บาท ก็ให้นายอุดมได้รับเงินค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายไปจริง แต่เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3และบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 เพียงแต่มอบอำนาจให้นายอุดมไปติดต่อเรียกร้องเงินค่าผาติกรรมจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจนเสร็จเรื่องเท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงที่ว่าจะให้เงินเป็นค่าตอบแทนเพื่อการนั้นแก่นายอุดมเลยส่วนเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีข้อตกลงว่าจะให้เงินค่าตอบแทนแก่นายอุดมนั้น เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ตามเอกสารดังกล่าวคงมีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.4ที่มีข้อความระบุว่าเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการติดตามเรื่องที่ดินของจำเลยที่ 1ที่ถูกเวนคืนจนแล้วเสร็จนั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 แต่อย่างใดอีกทั้งพระเทพรัตนดิลกเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1ก็เบิกความยืนยันว่า พยานไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบเรื่องข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 สำหรับเงินค่าตอบแทนพยานก็ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 4 ไปดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากมีมติของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2507 ว่า เงินค่าผาติกรรมไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในการใดได้ นอกจากจะนำผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้เท่านั้น กับได้ความจากนายสุทธิพงษ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ผู้อำนายการสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมพยานจำเลยอีกปากหนึ่งว่า มหาเถรสมาคมมีข้อกำหนดไว้ว่า เงินค่าผาติกรรมดังกล่าวไม่อาจนำไปใช้ในกิจการอื่นได้ นอกจากจะนำดอกเบี้ยของเงินค่าผาติกรรมไปใช้เท่านั้น และมติดังกล่าวปัจจุบันก็ยังใช้บังคับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏชัดว่า เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1ได้รับรู้หรือได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4ในข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 ด้วย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 2 แม้มีตำแหน่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 แต่ก็มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมตกลงที่จะให้เงินค่าตอบแทนแก่นายอุดมตามข้อตกลงดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น แม้ว่าจะลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากระทำไปในฐานะที่เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น นายอุดมย่อมทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่เจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 และเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับรู้หรือให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยสำหรับจำเลยที่ 5 นั้น แม้จะมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการฝ่ายฆราวาสของกองจัดการรายได้และผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 ด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 5จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
พิพากษายืน

Share