แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญา จ้าง ว่า ความ เป็น สัญญา จ้าง ทำ ของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ถือ เอา ผลสำเร็จ ของงาน คือ การ ดำเนินคดี หรือ ทำ หน้าที่ ทนายความ ตั้งแต่ตระเตรียม คดี และ ว่า ต่าง หรือ แก้ต่าง ใน ศาล ไป จน คดี ถึง ที่สุดและ การ จ่าย สินจ้าง ต้อง ถือเอา ความสำเร็จ ของ ผลงานหรือ จ่าย สินจ้าง ตาม ที่ ตกลง กัน ไว้ แม้ ข้อตกลง ว่า ผู้ว่าจ้าง จะชำระ สินจ้าง ให้ เต็ม ตาม จำนวน ใน สัญญาจ้าง ไม่ว่า ผู้ว่าจ้างจะ เลิก สัญญา ใน ชั้นใด หรือ เวลา ใด ก็ ไม่ใช่ ข้อสัญญา ที่ ผูกมัดตัด ทอน เสรีภาพ ของ ผู้ว่าจ้าง เพราะ มิได้ ห้าม เด็ดขาดมิให้ ผู้ว่าจ้าง ถอน ทนาย เพียง แต่ มี เงื่อนไข ว่าหาก ถอน ทนาย ผู้ว่าจ้าง ก็ ยัง ต้อง ชำระ ค่า สินจ้าง เต็ม จำนวนใน สัญญา เท่านั้น จึง ไม่ ขัด ต่อ ความ สงบ เรียบร้อย และ ศีลธรรมอันดี ของ ประชาชน ข้อตกลง เช่นว่า จึงมี ผลบังคับ ได้ แต่การที่จำเลยผู้ว่าจ้างได้ถอนโจทก์จากการเป็นทนายความ ก่อนที่คดีจะถึงที่สุดดังกล่าวเป็นกรณีที่ถือได้ว่า จำเลย ผู้ว่าจ้างได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างทำของในระหว่างที่การที่ว่าจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจำเลยในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของคดีความมีผลประโยชน์และมีส่วนได้เสีย ในฐานะลูกความในคดีดังกล่าว มีสิทธิที่จะกระทำได้ หากผู้ว่า จ้างไม่มีความไว้วางใจในตัวทนายความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 และเมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมจะเกิดผลตามกฎหมายตามมา กล่าวคือ ในส่วนของการงาน อันโจทก์ได้กระทำไปแล้วจำเลยผู้ว่าจ้างต้องใช้เงินตามราคา ค่าแห่งการนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ ผู้รับจ้างตามมาตรา 605 และไม่อาจถือได้ว่าจำนวนเงินค่าจ้าง ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินค่าแห่งการงาน ที่โจทก์ได้ทำให้แก่จำเลย หรือเป็นจำนวนเงินที่มีกำหนด ในสัญญาว่าให้ใช้เป็นเงินตอบแทนอันจะต้องใช้เงินตามจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ผู้รับจ้าง เพราะเท่ากับเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั่นเองซึ่งหากจำนวนเงินค่าปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 การใช้เงินตามราคา ค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วจึงต้องพิจารณาจาก ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วทั้งหมดและพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ ประกอบกับความเป็นธรรมและความเหมาะสม และศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ตามสมควร จำนวนเงินที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ตามค่าแห่งการงาน ที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่รู้จำนวนที่แน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตามกฎหมายนับ แต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างว่าความจำนวน 3,029,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์แล้วเสร็จดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 75,731.25 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,514,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จโจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างว่าความจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นทนายโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 12176/2534 หมายเลขแดงที่ 24813/2536 ของศาลชั้นต้นระหว่าง นางสาววัชรีพร พัตบุญมา (จำเลยคดีนี้) ที่ 1กับพวกรวม 3 คน โจทก์กับนางแสวง พัตบุญมา กับพวกรวม 2 คนจำเลย โดยทำสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.1โจทก์ดำเนินคดีให้แก่จำเลยจนสืบพยานโจทก์ได้ 5 ปาก ในระหว่างสืบพยานจำเลยคู่ความในคดีดังกล่าวตกลงกันได้ ศาลชั้นต้นนัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 19 ตุลาคม 2536 ถึงวันนัดโจทก์ไปศาล แต่นางสาวเรไรคู่ความอีกคนหนึ่งไม่ไปศาลจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไปวันที่ 29 ตุลาคม 2536 ถึงวันนัด นางสาวเรไร และโจทก์ไม่ไปศาล ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนวันนัดไปวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 จำเลยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและถอนโจทก์จากการเป็นทนายความจำเลย เมื่อถึงวันนัดจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับที่ดินมรดก 3 ไร่ คดีถึงที่สุด โจทก์จึงมาเรียกค่าว่าความจากจำเลยเต็มจำนวนตามสัญญาจำเลยไม่ให้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ค่าจ้างว่าความของโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เท่าใดนับจากเมื่อใด ในปัญหาแรกโจทก์ฎีกาว่า ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 ระบุว่า ไม่ว่าการดำเนินคดีจะถึงที่สุดในชั้นใดและเวลาใด และไม่ว่าผู้ว่าจ้างจะเลิกจ้างในชั้นใดหรือเวลาใด ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิลดหย่อนค่าว่าความเว้นแต่การเลิกจ้างนั้นเพราะผู้รับจ้างถอนตัวจากการเป็นทนายความด้วยตนเอง หรือเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างจึงจะมีสิทธิลดหย่อนค่าทนายความและค่าใช้จ่ายลงตามส่วนโจทก์ผู้รับจ้างมิได้ประพฤติผิดสัญญาจ้างและมิได้ประมาทเลินเล่อโจทก์จึงควรได้รับค่าจ้างว่าความเต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างว่าความจำนวน 3,029,250 บาท เห็นว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จของงานคือการดำเนินคดีหรือทำหน้าที่ทนายความตั้งแต่ตระเตรียมคดีและว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลไปจนคดีถึงที่สุด และการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงาน หรือจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้ แม้ข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างจะชำระสินจ้างให้เต็มตามจำนวนในสัญญาจ้างไม่ว่าผู้ว่าจ้างจะเลิกสัญญาในชั้นใดหรือเวลาใด ก็ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ผูกมัดตัดทอนเสรีภาพของผู้ว่าจ้างเพราะมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ว่าจ้างถอนทนายเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าหากถอนทนายผู้ว่าจ้างก็ยังต้องชำระค่าสินจ้างเต็มจำนวนในสัญญาเท่านั้นจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนข้อตกลงเช่นว่าจึงมีผลบังคับได้ แต่การที่จำเลยผู้ว่าจ้างได้ถอนโจทก์จากการเป็นทนายความก่อนที่คดีจะถึงที่สุดดังกล่าวเป็นกรณีที่ถือได้ว่า จำเลยผู้ว่าจ้างได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างทำของในระหว่างที่การที่ว่าจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจำเลยในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของคดีความมีผลประโยชน์และมีส่วนได้เสียในฐานะลูกความในคดีดังกล่าว มีสิทธิที่จะกระทำได้หากผู้ว่าจ้างไม่มีความไว้วางใจในตัวทนายความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 และเมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมจะเกิดผลตามกฎหมายตามมา กล่าวคือ ในส่วนของการงานอันโจทก์ได้กระทำไปแล้ว จำเลยผู้ว่าจ้างต้องใช้เงินตามราคาค่าแห่งการนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างตามมาตรา 605 และไม่อาจถือได้ว่า จำนวนเงินค่าจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้ทำให้แก่จำเลย หรือเป็นจำนวนเงินที่มีกำหนดในสัญญาว่าให้ใช้เป็นเงินตอบแทน อันจะต้องใช้เงินตามจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ผู้รับจ้าง เพราะเท่ากับเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั่นเอง ซึ่งหากจำนวนเงินค่าปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 การใช้เงินตามราคาค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วจึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วทั้งหมดและพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ ประกอบกับความเป็นธรรมและความเหมาะสมและศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ตามสมควร แต่จำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว เห็นว่า มีจำนวนน้อยเกินไป จึงเห็นสมควรกำหนดให้ใหม่เป็นเงิน 750,000 บาท ในส่วนดอกเบี้ยนั้นเห็นว่าจำนวนเงินที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่กำหนดขึ้นตามค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่รู้จำนวนที่แน่นอนว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตามกฎหมาย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความจำนวน750,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์