คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 กับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2499 ได้ตราขึ้นก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้นและเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็ตามแต่เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173วรรคสอง บัญญัติในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้อันเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงดังกล่าวจะไม่มีบทบัญญัติดังเช่นมาตรา 173วรรคสอง ก็ดี แต่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯก็บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับการที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาคดี จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา กรณีเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา และพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทงจำคุก 4 ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบจำเลยเรื่องทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองและสอบถามคำให้การจำเลยเรื่องการเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง เสียก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4บัญญัติว่า “ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน” พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดได้ตราขึ้นก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองบัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” อันเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลแม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงดังกล่าวจะไม่มีบทบัญญัติดังเช่นมาตรา 173 วรรคสองก็ดี แต่ตามมาตรา 4 ข้างต้นก็บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ การที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาคดีจึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา กรณีเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา และพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2)
พิพากษายืน

Share