คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทย ผู้ขายสินค้าพิพาท ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1มีหน้าที่รับสินค้าพิพาทจากผู้ขายสินค้าและบรรทุกสินค้าลงเรือเมื่อเรือขนสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางจำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องติดต่อประสานงานในการนำเรือเข้าจอดเทียบท่า และติดต่อพิธีการทางศุลกากร ในการติดต่อขอรับสินค้า บริษัทอ.ผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระค่าระวางบรรทุกสินค้า เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้วจะแจ้งให้จำเลยที่ 4 ออกใบปล่อยสินค้าให้ และใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้ขายสินค้ามีข้อความระบุว่าการปล่อยสินค้าให้ติดต่อจำเลยที่ 2 และมีข้อความระบุอีกว่าค่าระวางบรรทุกสินค้าให้ชำระที่เมืองท่าปลายทาง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เก็บค่าระวางบรรทุกสินค้าสำหรับสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1ในราชอาณาจักร จึงถือได้ว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 3(2)(ข) ในวันที่มีการออกใบตราส่งฉบับแรกคือวันที่28 เมษายน 2534 และวันที่มีการส่งมอบและตรวจรับสินค้าพิพาทคือวันที่ 8 มิถุนายน 2534 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวเพิ่งจะ มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ดังนั้น จึงต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ซึ่งเป็นบทกฎหมาย ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มูลคดีเกิดขึ้น อันเป็น บทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มูลคดีเกิดขึ้น อันเป็นบทกฎหมาย ที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับ ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสองมิใช่ถือเอาวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดี และกรณีไม่อาจนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาใช้บังคับกับคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี และจำเลยที่ 1เป็นผู้ติดต่อให้เรือท.ขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะ เป็นผู้ขนส่งตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 608 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบในการที่สินค้า พิพาทสูญหายไปตาม มาตรา 616 ในการติดต่อขอรับสินค้าพิพาท บริษัทอ. ผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2 และจะต้องชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้ว จะแจ้งไปยังจำเลยที่ 4ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้ และตามใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1ออกให้แก่ผู้ส่งสินค้าระบุให้ผู้รับตราส่งติดต่อจำเลยที่ 2ในการขอรับสินค้า ทั้งตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 3ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานตัวแทนของผู้ส่งสินค้าก็ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับตราส่งนอกจากนั้น จำเลยที่ 2ยังมีหน้าที่ติดต่อกับบริษัทเรือเพื่อรับเอกสารการปล่อยสินค้าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวรับฟังได้ว่าเป็นการดำเนินงานขนส่งสินค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทด้วย สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นผู้ทำการขนถ่ายสินค้า ที่บรรทุกมากับเรือท. และนำสินค้าดังกล่าวไปมอบให้แก่การท่าเรือ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งสินค้าพิพาทด้วย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในความสูญหายของสินค้า พิพาทดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนทางทะเล โดยมีจำเลยที่ 2ร่วมประกอบกิจการดังกล่าวและเป็นตัวแทนในประเทศ จำเลยที่ 3ประกอบกิจการรับขนทางทะเล โดยมีจำเลยที่ 4 ร่วมประกอบกิจการดังกล่าวและเป็นตัวแทนในประเทศไทย เมื่อวันที่29 เมษายน 2534 โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันรับประกันภัยสินค้าประเภทอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการในโรงงานผลิตและม้วนเหล็กกล้าจำนวน 125 หีบห่อ จากบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปส์ จำกัดที่ได้สั่งซื้อจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันรับขนสินค้าดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย โจทก์ทั้งสองจึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,110,777.53 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และเงินจำนวน 370,259.17 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 1,110,777.53 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน370,259 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำเลยที่ 2 และที่ 4เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2534 โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันรับประกันภัยสินค้าประเภทอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการในโรงงานผลิตและม้วนเหล็กกล้าจำนวน 125 หีบห่อ จากบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีบกรุ๊ปส์ จำกัดที่ได้สั่งซื้อจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวงเงิน233,728,270.54 บาท โดยโจทก์ที่ 1 รับประกันภัยไว้ในอัตราร้อยละ 75 และโจทก์ที่ 2 รับประกันภัยไว้ในอัตราร้อยละ 25 ของวงเงินประกัน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวด้วยเรือชื่อ “ทองไฮ” จากเมืองท่าฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2534 มาถึงท่าเรือสัตหีบ ประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2534 ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปจำนวน 1 หีบห่อ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3(2)(ข) บัญญัติว่า”ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย” ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองมีนายยงชัย หุ่นวงกตวิเชียร เจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด ผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาทเป็นพยานเบิกความมีใจความว่า ผู้ขายสินค้าพิพาทได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับสินค้าพิพาทจากผู้ขายสินค้าและบรรทุกสินค้าลงเรือเมื่อเรือสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางจำเลยที่ 1 และที่ 2จะต้องติดต่อประสานงานในการนำเรือเข้าจอดเทียบท่า และติดต่อพิธีการทางศุลกากร นอกจากนั้น ในการติดต่อขอรับสินค้าบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปส์ จำกัด จะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2เพื่อชำระค่าระวางบรรทุกสินค้า เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้ว จะแจ้งให้จำเลยที่ 4 ออกใบปล่อยสินค้าให้และเมื่อพิจารณาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 1ออกให้แก่ผู้ขายสินค้าแล้วจะเห็นว่ามีข้อความระบุว่า การปล่อยสินค้าให้ติดต่อจำเลยที่ 2 และมีข้อความระบุอีกว่า ค่าระวางบรรทุกสินค้าให้ชำระที่เมืองท่าปลายทาง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายยงชัยดังกล่าว แสดงว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เก็บค่าระวางบรรทุกสินค้าสำหรับสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักรจึงถือได้ว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3(2)(ข)ดังกล่าว ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้สำนักงานของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ประการต่อไปมีว่า จะต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับคดีนี้เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสองจะบัญญัติว่า “รับขนของทางทะเลท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” ก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทั้งวันที่มีการออกใบตราส่งฉบับแรกตามเอกสารหมาย จ.6 คือวันที่ 28 เมษายน 2534 และวันที่มีการส่งมอบและตรวจรับสินค้าพิพาทคือวันที่ 8 มิถุนายน 2534 นั้นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวเพิ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่21 กุมภาพันธ์ 2535 ดังนั้น จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มูลคดีเกิดขึ้นอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสองมิใช่ถือเอาวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ฎีกา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ประการต่อไปมีว่า สินค้าพิพาทสูญหายระหว่างการขนส่งหรือไม่ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทได้สูญหายในระหว่างการขนส่งจริง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และจำเลยที่ 1เป็นผู้ติดต่อให้เรือทองไฮขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่ผู้ส่ง จำเลยที่ 1จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 608 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความว่า ในการติดต่อขอรับสินค้าพิพาทบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปส์ จำกัด จะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2และจะต้องชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้ว จะแจ้งไปยังจำเลยที่ 4 ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้ และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้ส่งสินค้าระบุให้ผู้รับตราส่งติดต่อจำเลยที่ 2 ในการขอรับสินค้า ทั้งตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานตัวแทนของผู้ส่งสินค้าก็ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับตราส่งนอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ติดต่อกับบริษัทเรือเพื่อรับเอกสารการปล่อยสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว รับฟังได้ว่าเป็นการดำเนินงานขนส่งสินค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทด้วย
สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น โจทก์ทั้งสองมีเรือโทสมชาติ เพียรสวรรค์ ผู้ตรวจสอบสินค้าของการท่าเรือสัตหีบเป็นพยานหลักฐานเบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ทำการขนถ่ายสินค้าที่บรรทุกมากับเรือทองไฮและนำสินค้าดังกล่าวไปมอบให้แก่การท่าเรือสัตหีบ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งสินค้าพิพาทด้วย จำเลยที่ 4จึงต้องร่วมรับผิดในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดไม่เกิน 2.27 ดอยซ์มาร์ก หรือ 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนจำเลยที่ 4รับผิดไม่เกิน 95,100 บาท นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535ภายหลังจากมูลคดีของคดีนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่อาจนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับกับคดีนี้ได้
พิพากษายืน

Share