คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5762/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้ามาสร้างโรงเรือนในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าตนเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน เนื้อที่เท่ากันคนละ 77 ตารางวา เนื้อที่ดินทั้งแปลงมีราคา 52,000 บาทที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยแต่ละคนจึงมีราคาครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาททั้งแปลงคือมีราคาแปลงละ 26,000 บาทซึ่งต้องถือราคานี้เป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคนจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 26,000 บาท ไม่เกิน 50,000 บาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 533ซึ่งเดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) โดยรับซื้อฝากจากนายแหยม ใกล้สุขจำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปสร้างโรงเรือนในที่ดินดังกล่าวโจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนและขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายหากโจทก์นำที่ดินดังกล่าวไปให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไปและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2523นายแหยม เจ้าของที่เดิมแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น 2 แปลงแปลงทางทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 77 ตารางวา นายแหยมขายให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนแปลง ทางทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ77 ตารางวา นายแหยม ยกให้จำเลยที่ 2 และส่งมอบการครอบครองให้จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินส่วนของตนเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ในเดือนมีนาคม 2527 นายแหยมขอยืมเงินโจทก์ โจทก์ซึ่งทราบอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้ใช้อุบายหลอกลวงนายแหยม ให้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยอ้างว่าหากนายแหยม มีเงินมาไถ่เมื่อใดก็จะให้ไถ่ได้นายแหยม หลงเชื่อจึงจดทะเบียนขายฝากให้ การจดทะเบียนขายฝากระหว่างนายแหยม กับโจทก์เป็นการฉ้อฉล โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 533 จึงไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ที่ดินดังกล่าวหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินปีละ 200 บาทขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 350 ระหว่างนายแหยมกับโจทก์และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 533
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ที่ดินพิพาทโดยนิติกรรมขายฝากที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่ได้คัดค้านที่โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 533 และให้รื้อถอนกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินดังกล่าวและส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 350 ระหว่าง นายแหยม ใกล้สุข กับโจทก์ และให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 533
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท อ้างว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านอยู่บนที่ดินพิพาทที่ดินพิพาททั้งแปลงมีราคา52,000 บาท ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่านายแหยม ใกล้สุข เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมแบ่งขายที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ให้แก่จำเลยที่ 1เนื้อที่ 77 ตารางวา ส่วนที่เหลือทางด้านทิศเหนือเนื้อที่77 ตารางวา นายแหยม ยกให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนละส่วนและมิได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ดังฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งรวมกันมาเป็นเงิน 1,300 บาท ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกับให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากระหว่างนายแหยมกับโจทก์และเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์คนละฉบับโดยถือว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคนเป็นเงิน 52,000 บาทและเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาคนละ 1,300 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้ามาสร้างโรงเรือนในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าตนเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน เนื้อที่เท่ากันคนละ 77 ตารางวาเนื้อที่ดินทั้งแปลงมีราคา 52,000 บาท ที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยแต่ละคนจึงมีราคาครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาททั้งแปลงคือมีราคาแปลงละ26,000 บาท ซึ่งต้องถือราคานี้เป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยแต่ละคนจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 26,000 บาท ไม่เกิน 50,000 บาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายแหยม จำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครอง นายแหยมหมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงนำไปขายฝากให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแม้โจทก์จะได้นำไปออกโฉนดโจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่านายแหยม ยกที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 และส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้วและจำเลยที่ 2ก็ได้ครอบครองตลอดมา แม้นายแหยม จะมิได้จดทะเบียนการยกให้จำเลยที่ 2 ก็ได้สิทธิครอบครองแล้ว ต่อมาภายหลังนายแหยม ได้นำที่ดินพิพาทไปขายฝากให้แก่โจทก์และไม่ได้ไถ่ถอนในกำหนดโจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ถึงโจทก์ได้นำที่ดินพิพาทไปออกโฉนดโจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายที่กล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1จึงมิชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง

Share