คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5711/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ส. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าระบุสถานที่ใช้ไฟฟ้าคือบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท พ.จำเลยที่2เมื่อส. ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า จาก ส. มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เมื่อบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นทั้งที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ทำการของจำเลยที่ 2 จึงต้อง ถือว่าจำเลยทั้งสองใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวร่วมกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าอยู่นอกอาคารของจำเลยที่ 2 และ การที่เครื่องวัดหน่วยคลาดเคลื่อนมิใช่เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสอง ทั้งเครื่องวัดที่ใช้ในการตรวจสอบหน่วยไฟฟ้าก็ไม่สามารถแสดงค่าจำนวนหน่วยคลาดเคลื่อนว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด การที่โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าย้อนหลังโดยดูจากประวัติการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ในเดือน มกราคม 2531 ซึ่งเป็นเดือนที่มียอดต่ำสุดมาเป็นเกณฑ์คาดคะเน ว่าเครื่องวัดหน่วยคลาดเคลื่อนตั้งแต่เดือนนั้นเป็นต้นไปเป็น หลักการคาดคะเนที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่าเครื่องวัด หน่วยคลาดเคลื่อนตั้งแต่เดือนดังกล่าว แต่เมื่อวันที่22 ตุลาคม 2531 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ตั้งไว้สายควบคุมเส้นสีแดงต่อเข้าหม้อแปลงหลวงไฟฟ้าลัดวงจร จึงถือว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชำรุดตั้งแต่วันที่ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไป กิจการของโจทก์เป็นกิจการสาธารณูปโภค และการฟ้องเรียก ค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยทั้งสองเป็นการเรียกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้า เพราะเหตุเครื่องวันหน่วยไฟฟ้าคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าขาดตกบกพร่อง ไป เมื่อคำนวณใหม่ให้ถูกต้องแล้วเรียกค่าใช้กระแสไฟฟ้า เพิ่มเติมในส่วนที่ขาด อายุความส่วนนี้มิได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงให้ใช้อายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งเป็นกฎหมาย สารบัญญัติที่ใช้ขณะนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าไฟฟ้าจำนวน 450,877.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 327,910.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่โจทก์เรียกร้องให้ชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังเกิดจากความชำรุดบกพร่องของเครื่องวัดอันเป็นการพ้นวิสัย เป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่ทราบว่าความชำรุดบกพร่องของเครื่องวัดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดจำนวนเงินที่เรียกร้องมาเป็นการคาดคะเนของโจทก์เอง โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงความชำรุดบกพร่องของเครื่องวัด จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ขาย ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน327,910.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้รับผิดไม่เกิน 122,966.61 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการผลิตจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคเดิมนายสมพงษ์ เชาวน์ประดิษฐ์ สามีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอให้กระแสไฟฟ้า โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ดับบลิว 1-24079 ที่ทำการของจำเลยที่ 2 เพื่อคำนวณหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ไป ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2531 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้สายควบคุมเส้นสีแดงขั้วต่อเข้าหม้อแปลง กระแสไฟฟ้าหลวมลัดวงจร มีรอยไหม้ ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าเครื่องวัด 1 เส้นโจทก์จึงทำการติดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบในวันที่ 8พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531 ทำให้โจทก์ทราบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ดับบลิว 1-24079 แสดงค่าหน่วยน้อยไป ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 กระทำการในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวนั้นเห็นว่า เมื่อนายสมพงษ์เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าระบุสถานที่ใช้ไฟฟ้าคือบ้านเลขที่ 654 ซอยพงษ์จิตต์ ถนนเพชรเกษม แขวงวัดท่าพระเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของจำเลยที่ 2เมื่อนายสมพงษ์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าจากนายสมพงษ์มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ตามใบขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.27 เมื่อบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นทั้งที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ทำการของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสายควบคุมเส้นสีแดงขั้วที่ต่อเข้าหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าหลวมเป็นเหตุให้ไฟฟ้าลัดวงจรมีรอยไหม้ ทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าขั้วที่ต่อเข้าหม้อแปลงกระแสจะลัดวงจรและไหม้ตั้งแต่เมื่อใด แต่โจทก์มีนายวิรัตน์ จิรพัฒนาลักษณ์ เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับแจ้งว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ดับบลิว 1-24079เครื่องวัดชำรุดแสดงค่าไม่ถูกต้อง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปติดตั้งเครื่องวัดเปรียบเทียบเพื่อหาค่าหน่วยที่แท้จริงที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับเครื่องวัดนี้ เครื่องวัดเปรียบเทียบติดตั้งตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 15 พฤศจิกายน 2531 ปรากฏว่าเครื่องที่ชำรุดแสดงค่าหน่วยพลังงานน้อยไปร้อยละ 39.95 และแสดงค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดน้อยไปร้อยละ 39.29 พยานได้ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังว่าเครื่องวัดนี้แสดงค่าหน่วยน้อยไปตั้งแต่เมื่อใด ดูจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของเครื่องวัดที่ชำรุดตามเอกสารหมาย จ.25 ปรากฏว่าเครื่องวัดนี้แสดงค่าหน่วยน้อยลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2530 จนถึงวันตรวจพบ ชั้นแรกได้คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2530 ตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าขอลดหย่อนค่าไฟฟ้า พยานจึงเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าระหว่างปี 2530 กับ 2531 พบว่าค่าไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2530 ถึงมกราคม 2531 ใกล้เคียงกัน จึงเริ่มเก็บเพิ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2531 เป็นเงิน 327,910.96 บาท เห็นว่า เมื่อเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าอยู่นอกอาคารของจำเลยที่ 2 และเครื่องวัดหน่วยคลาดเคลื่อนมิใช่เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสอง การตรวจสอบโดยติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบเพียงทราบว่าค่าหน่วยพลังงานไฟฟ้าน้อยไปร้อยละ 39.95 ค่าความต้องการพลังงานน้อยไปร้อยละ 39.29 แต่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไม่สามารถแสดงค่าจำนวนหน่วยคลาดเคลื่อนตั้งแต่เมื่อใด การที่โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 โดยดูจากประวัติการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 เดือนมกราคม 2531 ใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 32,837.76 บาท ซึ่งเป็นยอดต่ำสุดมาเป็นเกณฑ์คาดคะเนว่าเครื่องวัดหน่วยคลาดเคลื่อนตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 หลักการคาดคะเนดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่าเครื่องวัดหน่วยคลาดเคลื่อนตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 แต่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2531 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ตั้งไว้สายควบคุมเส้นสีแดงต่อเข้าหม้อแปลงหลวม ไฟฟ้าลัดวงจร จึงถือว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชำรุดตั้งแต่วันที่ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2531 คิดเป็นเงิน 50,618.23 บาท ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าเมื่อกิจการของโจทก์เป็นกิจการสาธารณูปโภค และการฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยทั้งสองเป็นการเรียกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าเพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าขาดตกบกพร่องไปเมื่อคำนวณใหม่ให้ถูกต้องแล้วเรียกค่าใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด อายุความส่วนนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงให้ใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่ใช้ขณะนั้น ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน50,618.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share