คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทรวม 9 ฉบับ ได้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาแต่ละฉบับว่า ให้เจ้าของที่ดินที่ยังเป็นผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเสียก่อนจึงจะไปโอนที่ดินพิพาทกันได้ สัญญาซื้อขาย ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่สัญญา ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้า และหากไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลงหรือบางส่วน ให้จำเลยทั้งเก้าคืนเงินตามส่วนของราคาที่ดินในปัจจุบันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเงิน60,000 บาท
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า จำเลยทั้งเก้ามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกันสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ นับตั้งแต่มีการบอกขายที่ดินพิพาทมีเพียงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้นที่ทราบเรื่อง ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ไม่ทราบเรื่องการซื้อขายแต่อย่างใด โจทก์หลอกลวงใช้กลอุบายให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งเก้า ส่วนสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์นั้น โจทก์ได้ปลอมแปลงเอกสารให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9ลงลายมือชื่อไว้ แล้วโจทก์นำไปกรอกข้อความโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยดังกล่าว แม้จะมีเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายว่าให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเสียก่อนจึงจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งเก้าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ค่าเสียหายประมาณปีละ 4,000 บาท เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเก้าโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1347 ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร แก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ยังเป็นผู้เยาว์ให้นางสวาท บานแย้มหรือพระบิดา มารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำการแทน หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งเก้าชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งเก้าฎีกาได้เฉพาะแต่ในปัญหาข้อกฎหมายจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยทั้งเก้าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามน.ส.3 เลขที่ 1347 ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรเนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา เมื่อปี 2527 จำเลยแต่ละคนได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ไว้คนละฉบับตามสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.10 แต่เนื่องจากในขณะทำสัญญานั้น จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ยังเป็นผู้เยาว์สัญญาแต่ละฉบับจึงมีเงื่อนไขว่าให้เจ้าของที่ดินที่ยังเป็นผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะก่อนจึงจะโอนที่ดินพิพาทกัน ส่วนค่าโอนที่ดินทั้งหมดจะออกฝ่ายละครึ่ง หลังจากทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งเก้าได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาในปี 2535 จำเลยที่ 4 เข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาททำให้โจทก์ทำนาในที่ดินพิพาทไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 4 ในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เป็นคดีอาญาศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์คดีถึงที่สุดแล้ว ในปีเดียวกันนั้น นางสวาท พระบิดา มารดาจำเลยทั้งเก้ายื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตแต่ยังไม่ได้ไปโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เพราะมีการโต้เถียงกันว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งเก้า โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.10 เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ไม่อาจบังคับได้นั้นเห็นว่า ในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.10ได้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาแต่ละฉบับว่า ให้เจ้าของที่ดินที่ยังเป็นผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเสียก่อนจึงจะไปโอนที่ดินพิพาทกันได้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นโมฆะและใช้บังคับได้
ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ยังเป็นผู้เยาว์ และทำนิติกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้ปกครองสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆียะ และตามที่นางสวาท พระบิดา มารดาของจำเลยทั้งเก้าขอทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทแทนผู้เยาว์ถือเสมือนว่าผู้เยาว์ไม่ได้ทำนิติกรรมใด ๆ นั้นเป็น ข้อที่จำเลยทั้งเก้าไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share