คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5583/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ที่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่น การพนันแปดเก้า แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 เพียงฐานร่วมกันเล่นการพนันมิได้แจ้งข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังกล่าว และไม่มีการสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 6 ในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นแปดเก้าเมื่อไม่มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 6 ในข้อความผิดดังกล่าวนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง กล่าวคือ เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อความผิดตามที่อ้างในฎีกาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 หรือไม่ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 6 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและคดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ โดยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นเป็นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 6 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนันพ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12 และ 15 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ
จำเลยทั้งสิบเจ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12และ 15 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้ามือ จำคุก 3 เดือนการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่น จำคุก 3 เดือน ฐานเป็นผู้เล่นจำคุก 1 เดือน รวม 2 ฐาน จำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 1และที่ 6 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1จำคุก 1 เดือน 15 วัน จำเลยที่ 6 จำคุก 2 เดือน ความผิดฐานเป็นผู้เล่น ปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 12และที่ 14 ถึงที่ 17 คนละ 4,000 บาท จำเลยที่ 13อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ปรับ 2,000 บาทจำเลยดังกล่าวทุกคนให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 12 และที่ 14 ถึงที่ 17คนละ 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 13 ปรับ 1,000 บาทโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้เปลี่ยนเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5และที่ 7 ถึงที่ 17 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลางและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 17 จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 6 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 6 ฎีกาประการแรกว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันแปดเก้า แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 เพียงฐานร่วมกันเล่นการพนันมิได้แจ้งข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังกล่าว และไม่มีการสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 6 ในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นแปดเก้าแต่อย่างใด เมื่อไม่มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 6 ในข้อความผิดดังกล่าว เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 6 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องกล่าวคือ เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อความผิดตามที่อ้างในฎีกาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 6ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1และที่ 6 ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ทั้งมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นเป็นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งหมดได้พร้อมกับของกลางได้แก่ ไพ่ป๊อกจำนวน 2 สำรับ ผ้าปูรองเล่นจำนวน 1 ผืนเสื่อจำนวน 2 ผืน ผ้าปูสำหรับบอกตัวเลขจำนวน 12 ผืนและเงินสดจำนวน 400 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้มีเพียงเล็กน้อย แม้ว่าเจ้าพนักงานจะจับผู้ร่วมเล่นการพนันได้ถึง 17 คน แต่ตามพฤติการณ์แล้วยังไม่อาจแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าการเล่นการพนันดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ่อนการพนันขนาดใหญ่และมีการเล่นได้เสียกันเป็นอาชีพไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 6 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 6กลับประพฤติตนเป็นคนดีต่อไป แต่เพื่อป้องปรามมิให้จำเลยที่ 1และที่ 6 กระทำความผิดในทำนองนี้อีก และเพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแลให้จำเลยที่ 1และที่ 6 กลับตัวได้อย่างแท้จริง จึงเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 6 อีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไว้ เมื่อลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 6แล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 6จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ 5,000 บาท ปรับจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่น 5,000 บาท และฐานเป็นผู้เล่น 4,000 บาทรวมปรับ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 2,500 บาท และปรับจำเลยที่ 6จำนวน 4,500 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 6 โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 และที่ 6 เห็นสมควรเป็นเวลาคนละ 30 ชั่วโมง หากจำเลยที่ 1 และที่ 6ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share