คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดชี้สองสถานและนัดฟังคำพิพากษาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เสร็จ ไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182(4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดแจ้งว่าบ้านเลขที่ 300/2ซึ่งเป็นของ ว. อยู่ก่อนนั้นได้พังลง โจทก์ได้ปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี 2535 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง จึงไม่ใช่มูลคดีเดียวกัน แต่เป็นมูลคดีที่ปรากฏขึ้นใหม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับวินิจฉัย ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ คดีก่อนจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่าโจทก์เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่ง ว.ได้ปลูกสร้างลงบนที่ดินที่ได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินแล้วโจทก์ได้ตัดฟันต้นไม้ของ ว.อันเป็นการกระทำละเมิดต่อว.ว.ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าว. ไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่อาศัยในบ้านและที่ดินของ ว. ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารกับเรียกค่าเสียหาย โจทก์ให้การว่า หลังจากที่ ว. ได้ยกบ้านและที่ดินให้ ส.แล้วส. ได้ขายบ้านและที่ดินนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนต้นไม้ไม่ใช่ของ ว. และโจทก์มิได้ตัดฟันศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาทโดยวินิจฉัยว่า ว.ไม่ได้ยกบ้านและที่ดินพิพาทให้ส. และส. ไม่ได้ขายให้แก่โจทก์บ้านและที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของว. โจทก์ฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์การที่โจทก์มาฟ้อง ท.ในฐานะทายาทของว.เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของ ว. ในคดีนี้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่งเป็นของ ว. อยู่ก่อนได้พังลง โจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่แต่ใช้เลขที่บ้านเดิมและร่วมออกเงินเพื่อถมดินในที่ดินดังกล่าวกับผู้มีชื่ออีก 3 คน ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้าน เลขที่ 300/2 พร้อมรั้วเป็นของโจทก์ หากที่ดินพิพาทไม่ใช่ ที่ราชพัสดุ ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าดินที่ถมและ ค่ารั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาท แทนการรื้อถอนแก่โจทก์ ดังนี้ แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จะถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนซึ่งได้มี คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งในคดีก่อนไม่มี ประเด็นให้ต้องวินิจฉัยดังกล่าว จึงมิใช่การที่คู่ความเดียวกัน รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุ อย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ผลแห่งคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดในคดีแพ่งที่ว่าที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นของ ว. ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 โจทก์จำต้องยอมรับผลแห่งคำพิพากษานั้น โจทก์จะมา อ้างในคำฟ้องคดีนี้ว่าความจริงที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ จึงมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ ไว้ในคดีก่อนหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อ ว. โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาท ผู้มีสิทธิรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทของ ว. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์ เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้านเลขที่ 300/2 พร้อมรั้วรอบที่ดินเป็นของโจทก์ ในคดีนี้อีก ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกา ก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่อ อีก 3 คน ถมดินในที่ดินแปลงพิพาทและโจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือน ขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาทขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้าน ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่ และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าดิน ที่ถมและรั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาท แทนการรื้อถอนแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคำขอบังคับทำนองเดียวกับ คำขอให้ชดใช้เงินค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสิ่งปลูกสร้าง ที่โจทก์ได้ปลูกสร้างลงในที่ดินของ ว. ในคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นบุคคลคนเดียวกัน ส่วนจำเลยในทั้งสองคดี ปรากฏว่าในคดีก่อน โจทก์ฟ้อง ว. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ว. ผู้มรณะในฐานะทายาท ส่วนในคดีนี้โจทก์ ก็ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ว. และโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินและบ้านพิพาท ของ ว. ถือได้ว่าจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกันเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทและการถมดิน ในที่ดินพิพาทไว้ในคดีก่อน ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณา ของศาลชั้นต้น และโจทก์ยื่นคำฟ้องในคดีนี้ในเรื่องเดียวกัน ต่อศาลเดียวกันอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และบ้านเลขที่ 300/2 พร้อมรั้วรอบที่ดินเป็นของโจทก์ แต่หากที่ดินพิพาทมิใช่ที่ราชพัสดุ ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าดินที่ถมและค่ารั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาทแทนการรื้อถอนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดชี้สองสถานและนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมนายเวที ไชยดิษฐ์ บิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายเวที ให้ขับไล่โจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้นายเวทีเคยพิพาทกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เรื่อง ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน และคณะกรรมการวินิจฉัยว่าที่ดินคูเมืองและที่ดินชานกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชมิใช่ที่ราชพัสดุ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ สร.1005/77 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 และยังมีหนังสือแจ้งการเพิกถอนที่ราชพัสดุเพื่อออกเอกสารสิทธิให้ราษฎรโดยหนังสือสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ สร.0107 (งสส.)/3773ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดการชี้สองสถานชอบหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 3กรกฎาคม 2539 ว่า ศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1แล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดชี้สองสถานและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 เดือนเดียวกัน เวลา 9 นาฬิกา ดังนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยานอันเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182(4)คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดการชี้สองสถานดังกล่าวจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้นหรือไม่นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าฟ้องโจทก์มิใช่ฟ้องซ้ำอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิชอบศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัย ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้ว ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยด้วยเห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดแจ้งว่าบ้านเลขที่ 300/2ซึ่งเป็นของนายเวที ไชยดิษฐ์ อยู่ก่อนนั้นได้พังลง โจทก์ได้ปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี 2535 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2538 จึงไม่ใช่มูลคดีเดียวกัน แต่เป็นมูลคดีที่ปรากฏขึ้นใหม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ซึ่งศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหานี้ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535ของศาลชั้นต้นที่ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งมาเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาว่า นายเวที ไชยดิษฐ์ ซึ่งนายวรเทพ ไชยดิษฐ์ ในฐานะทายาทของนายเวทีจำเลยที่ 1ในคดีนี้ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่งนายเวทีได้ปลูกสร้างลงบนที่ดินที่ได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์ได้ตัดฟันต้นไม้ของนายเวทีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อนายเวที นายเวทีได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่านายเวทีไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่อาศัยในบ้านและที่ดินของนายเวที แต่โจทก์และบริวารยังคงไม่ย้ายออกขอให้ขับไล่โจทก์และบริวาร และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โจทก์ให้การว่า หลังจากที่นายเวทีได้ยกบ้านและที่ดินตามฟ้องให้พลตรีสวาท แก้วมณี แล้ว พลตรีสวาทได้ขายบ้านและที่ดินนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนต้นไม้ไม่ใช่ของนายเวทีและโจทก์มิได้ตัดฟัน จึงมิต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเวที ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาทพร้อมให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า นายเวทีไม่ได้ยกบ้านและที่ดินพิพาทให้พลตรีสวาท และพลตรีสวาทไม่ได้ขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ บ้านและที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของนายเวที โจทก์ฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5393/2538 โจทก์มาฟ้องนายวรเทพในฐานะทายาทของนายเวทีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของนายเวทีในคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่งเป็นของนายเวทีอยู่ก่อนได้พังลง โจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่แต่ใช้เลขที่บ้านเดิมและร่วมออกเงินเพื่อถมดินในที่ดินดังกล่าวกับผู้มีชื่ออีก 3 คน ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้านเลขที่ 300/2 พร้อมรั้วเป็นของโจทก์ หากที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าดินที่ถมและค่ารั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาทแทนการรื้อถอนแก่โจทก์ ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จะถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น ไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยดังกล่าวการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้จึงมิใช่การที่คู่ความเดียวกันรอร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 อย่างไรก็ดีผลแห่งคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535ของศาลชั้นต้นที่ว่าที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นของนายเวทีย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จำต้องยอมรับผลแห่งคำพิพากษานั้น จะมาอ้างในคำฟ้องคดีนี้ว่าความจริงที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสามโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ จึงมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535ของศาลชั้นต้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์ต้องคำพิพากษาให้เป็นฝ่ายแพ้คดีนั้นหาได้ไม่ มิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลย่อมจะไร้ผลเมื่อนายเวทีโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทของนายเวทีเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้านเลขที่ 300/2พร้อมรั้วรอบที่ดินเป็นของโจทก์ในคดีนี้อีก ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และ 247
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านเลขที่ 300/2 และการถมดินในที่ดินพิพาทเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งมาเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาว่าโจทก์ในคดีนี้ได้ฟ้องนายเวที ไชยดิษฐ์ ซึ่งเป็นจำเลยซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่นายเวทีผู้มรณะ โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 โจทก์ได้ว่าจ้างนายปรีชา ณ นครก่อสร้างรั้วกำแพงซีเมนต์ลงบนที่ดินแปลงพิพาทและถมดินในที่ดินดังกล่าวให้เสมอกับระดับถนนด้วยผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น นายเวทีจึงเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ได้ปลูกสร้างลงในที่ดินพิพาทโดยสุจริต และนายเวทีมีหน้าที่ชดใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสิ่งปลูกสร้าง ขอให้บังคับนายเวทีชดใช้เงินค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสิ่งก่อสร้างที่โจทก์ได้ปลูกสร้างลงในที่ดินของนายเวทีโดยสุจริตเป็นเงิน 280,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้นเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ กล่าวคือฟ้องของโจทก์ในคดีนี้โจทก์ก็ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่ออีก 3 คน ถมที่ดินในที่ดินแปลงพิพาทและโจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่ และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าดินที่ถมและรั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาท แทนการรื้อถอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นคำขอบังคับทำนองเดียวกับคำขอให้ชดใช้เงินค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ได้ปลูกสร้างลงในที่ดินของนายเวทีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้นโจทก์ในคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นบุคคลคนเดียวกัน ส่วนจำเลยในทั้งสองคดีปรากฏว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องนายเวทีซึ่งมีจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่นายเวทีผู้มรณะในฐานะทายาท ส่วนในคดีนี้โจทก์ก็ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของนายเวที จำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินและบ้านพิพาทของนายเวที ถือได้ว่าจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทและการถมดินในที่ดินพิพาทไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และโจทก์ยื่นคำฟ้องในคดีนี้ในเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันอีกฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2536 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
พิพากษายืน

Share