คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามฟ้องของตน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลย และโจทก์เบิกความว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยตามเอกสารที่ระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายตามที่โจทก์ฟ้องและเบิกความ หรือเป็นสัญญาเช่าซื้อตามข้อความที่ระบุในเอกสาร ข้อความในเอกสารฉบับพิพาทระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อแต่ในแผนผังท้ายเอกสารกลับระบุว่าเป็นที่ดินแบ่งขาย ซึ่งที่ดินที่พิพาทกันตามเอกสารฉบับนี้ก็รวมอยู่ในแผนผังนี้ด้วย เมื่อปรากฏว่าลักษณะของแผนผังดังกล่าวเป็นการนำที่ดินแปลงใหญ่มาจัดสรรแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กออกขายให้แก่ลูกค้าและสาระสำคัญของเอกสารฉบับพิพาทคงมีแต่เรื่องจำนวนเงินทั้งหมดที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยจำนวนเงินมัดจำ จำนวนเงินที่ต้องชำระเป็นรายเดือนเป็นเวลากี่เดือน เมื่อโจทก์ชำระครบตามจำนวนเงินดังกล่าว จำเลยจะมอบกรรมสิทธิ์โอนที่ดิน ให้แก่โจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ผ่อนชำระเงินตามเวลา ที่กำหนดให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ไม่มีข้อความใน เอกสารฉบับพิพาทตอนใดที่ระบุว่าจำเลยซึ่งเป็น เจ้าของที่ดินเอาที่ดินออกให้เช่าและไม่มีเรื่อง การเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ รวมทั้งไม่มี เรื่องการกลับเข้าครอบที่ดินของจำเลย และนอกจากการผิดนัดชำระเงินแล้วก็ไม่มีการกระทำอื่นอัน จะถือว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็น ส่วนสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก ดังนี้ เอกสารฉบับพิพาทจึง เป็นสัญญาจะซื้อขาย โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรง ต่อศาลฎีกา โดยข้อกฎหมายว่า สัญญาที่โจทก์ทำ กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน มิใช่สัญญาเช่าซื้อ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย คดีรับฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน กับจำเลยตามฟ้องแต่เมื่อคดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัย ต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยแล้วตามสัญญา หรือไม่ และจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้น ยังไม่ได้วินิจฉัย และมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจ วินิจฉัยได้ จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น วินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษา ใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อ ศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นที่ว่า สัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หรือไม่ เมื่อศาลฎีกาฟังว่าเป็นสัญญาจะซื้อขายแล้ว แม้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระเงิน ให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้วหรือไม่ และจำเลยผิดสัญญา หรือไม่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งมิใช่เป็นปัญหา ข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ในปัญหา ว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ เช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล เพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 51485, 51486 และ 51489 จากจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 180,000 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน1,500 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาทเป็นเวลา 119 เดือน หรือครบกำหนดเดือนมกราคม 2543และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 51490 จากจำเลย ในราคา 90,000 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 1,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเดือนละ1,000 บาท เป็นเวลา 89 เดือน หรือครบกำหนดเดือนพฤษภาคม 2541จำเลยตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินครบถ้วนแล้ว โจทก์ผ่อนชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินครั้งหลังครบถ้วนแล้ว และผ่อนชำระเงินตามสัญญาจะซื้อขายครั้งแรกรวม 178,500 บาท จะต้องชำระอีก 1,500 บาท โจทก์แจ้งจำเลยให้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 สัญญา พร้อมกับรับเงินที่เหลือ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 51485, 51486, 51489และ 51490 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารที่โจทก์ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานไม่ใช่สัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดิน เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องผิดสัญญาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 กับจำเลย ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.5 กับจำเลยอีก ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 ระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดิน แต่โจทก์เบิกความว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน
ปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์มีว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาเช่าซื้อ ไม่ใช่สัญญาจะซื้อขายหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโจทก์ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามฟ้องของตนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลย และโจทก์เบิกความว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยตามเอกสารหมายจ.1 และ จ.5 แต่เอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 ระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายตามที่โจทก์ฟ้องและเบิกความหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อตามข้อความที่ระบุในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5
ปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์มีว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ เห็นว่าแม้ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 จะระบุชัดเจนว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ แต่ในแผนผังท้ายเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่าเป็นที่ดินแบ่งขาย ซึ่งที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 ก็รวมอยู่ในแผนผังนี้ ลักษณะของแผนผังดังกล่าวเป็นการนำที่ดินแปลงใหญ่มาจัดสรรแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กออกขายให้แก่ลูกค้า และสาระสำคัญของเอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 คงมีแต่เรื่องจำนวนเงินทั้งหมดที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยจำนวนเงินมัดจำ จำนวนเงินที่ต้องชำระเป็นรายเดือนเป็นเวลากี่เดือน เมื่อโจทก์ชำระครบตามจำนวนเงินดังกล่าว จำเลยจะมอบกรรมสิทธิ์โอนที่ดินให้แก่โจทก์ถ้าโจทก์ไม่ผ่อนชำระเงินตามเวลาที่กำหนดให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่มีข้อความว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเอาที่ดินออกให้เช่าไม่มีเรื่องการเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ ไม่มีเรื่องการกลับเข้าครองที่ดินของจำเลย และนอกจากการผิดนัดชำระเงินแล้วไม่มีการกระทำอื่นอันจะถือว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 วรรคแรก เอกสารหมาย จ.1 และ จ.5 จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ คดีรับฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยตามฟ้อง แต่คดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยแล้วตามสัญญาหรือไม่ และจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัย และไม่ได้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้จึงจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)ปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาในชั้นนี้ให้คืนแก่โจทก์

Share