แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่งและเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง ในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำ ต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง และเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าว ได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้องคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการแล้วยังเป็นตำแหน่งทางฝ่ายบริหารมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ธุรการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ด้วย ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การแต่งตั้งโจทก์จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่โจทก์เป็นการขัดกับ การที่โจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการหาข้อยุติความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณา สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในทางบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญยิ่งก็คือการจะนำเรื่องใดเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งนั้นเรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว การที่จำเลยที่ 2 พยายามหาข้อยุติความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่แต่งตั้งโจทก์และยังไม่อาจนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้นหาใช่จำเลยที่ 2 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์เสียหายอย่างใดไม่ จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและเป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่งในการประชุมก.ต.ประธานก.ต. เป็นประธานที่ประชุม โดยทั่วไปแล้วในการประชุมประธานที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ จัดการประชุมและรับผิดชอบดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วย ความเรียบร้อยและเป็นผลดีแก่ทางราชการ หากไม่มีข้อบังคับ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประธานที่ประชุม จะสั่งเลื่อนหรือปิดประชุมก็ย่อมทำได้ ได้ความว่า ในตอนเช้าจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้ดำเนินการประชุม ก.ต. ไป ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งถึงวาระการ แต่งตั้งข้าราชการตุลาการ จำเลยที่ 3 แถลงขอให้ที่ประชุม เลื่อนวาระนี้ไปก่อนโดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นว่า มีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อยู่อีกและเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ได้พยายาม ชี้แจงและขอร้องให้ที่ประชุมเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป โดยแจ้งว่าการเลื่อนออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควร ให้มีการเลื่อนจำเลยที่ 4 จึงอาศัยอำนาจของประธาน ที่ประชุมสั่งให้เลื่อนและปิดประชุมทั้งนี้โดยมีมูลเหตุมาจาก การขอร้องของพลเอก ส. นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลดี ต่อบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านตามรัฐประศาสโนบาย โดยเฉพาะ เป็นผู้มีหน้าที่นำมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อพลเอก ส. เห็นว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่และการแต่งตั้งโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชกระแส เช่นนี้การที่จำเลยที่ 4 ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนโดยแจ้งว่าการเลื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านแล้ว จึงได้สั่งให้เลื่อนและปิดประชุมหากจำเลยที่ 4 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 4 จะไม่นำเรื่องการแต่งตั้งโจทก์บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ย่อมได้ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ก็รู้อยู่ว่าโจทก์มีโทษ ทางวินัยอยู่ การที่ภายหลังต่อมามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อน การประชุมดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุมโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและมีหน้าที่ดำเนินการกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการตุลาการตามกฎหมายและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่บริหารงานกระทรวงยุติธรรมและเป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการพ.ศ. 2521 จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นกรรมการตุลาการ (ก.ต.) โดยตำแหน่ง จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการโดยตำแหน่งจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 คณะกรรมการตุลาการได้ประชุมและมีมติแต่งตั้งโจทก์จากตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1แม้จะอยู่ในชั้นเดียวกัน แต่เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหารถือว่ามีเกียรติ และศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งเดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้กราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว แต่ขณะที่เรื่องดังกล่าวอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยมีจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2535 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายทราบดีว่า โจทก์จะครบเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2535เจตนากลั่นแกล้งโจทก์มิให้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก่อนครบเกษียณอายุราชการได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2535เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จะต้องดำเนินการกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งโจทก์และข้าราชการอื่น ๆ ตามมติคณะกรรมการตุลาการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 กลับปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์และข้าราชการอื่น ๆ ได้รับความเสียหายโดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอรับเรื่องการแต่งตั้งโจทก์คืนจากสำนักราชเลขาธิการ แล้วจำเลยที่ 1 สั่งให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมลงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 ขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาอีกครั้ง โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่า มติของคณะกรรมการตุลาการที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายและถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และร่วมกันทำหนังสือลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 ถึงจำเลยที่ 4 ให้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโจทก์อีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น ต่อมาระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 เวลากลางวันถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2535 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า มติของคณะกรรมการตุลาการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เป็นมติซึ่งถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยที่ 4 กลับเก็บเรื่องไว้ประมาณ 1 เดือน จึงทำหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2535 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า จำเลยที่ 4 จะไม่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการเพราะการประชุมในวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เป็นการประชุมที่ไม่ชอบเนื่องจากจำเลยที่ 4 สั่งปิดประชุมแล้วระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2535 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2535 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งโจทก์แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2โดยความร่วมมือของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการจนโจทก์เกษียณอายุราชการ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อมิให้โจทก์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จนโจทก์เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2535 เหตุเกิดที่แขวงจิตรลดา เขตดุสิต และแขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 ให้จำคุกคนละ 2 ปีเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญชั้นบริหารระดับสูงมาเป็นเวลานานด้วยดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อแรกว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เอกชนเป็นผู้เสียหายได้หรือไม่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” เห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่งและเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง สำหรับในตอนแรกคำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรงและเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ ด้วยเหตุนี้ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โจทก์ในฐานะเอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 มีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3และที่ 4 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ปัญหาข้อนี้เห็นควรแยกวินิจฉัยคำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ก่อน คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น หน้าที่ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ต้องบรรยายมาในคำฟ้องให้เห็นหรือเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่อย่างไรและจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบอย่างไร เพราะหากจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่หรือกระทำนอกเหนือหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ตอนแรกโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นกรรมการตุลาการโดยตำแหน่งจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายต่อจากนั้น โจทก์กล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้กล่าวว่าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มีอย่างไรอีก และในตอนสุดท้ายโจทก์กล่าวลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยความร่วมมือของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพิกเฉยไม่ดำเนินการกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จนกระทั่งโจทก์เกษียณอายุราชการ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่อย่างไร จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นอย่างไร และเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 นี้ นอกจากโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยที่ 4 เป็นประธานศาลฎีกาและเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการโดยตำแหน่งจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้วโจทก์ยังได้บรรยายต่อไปว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องแจ้งมติของที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการไปยังจำเลยที่ 2 ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ดำเนินการจนกระทั่งโจทก์เกษียณอายุราชการ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 4 มาพอที่จะเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยที่ 4 มีหน้าที่อย่างไร และจำเลยที่ 4 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เห็นควรวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 2 ก่อน เห็นว่า จำเลยที่ 2 เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2535 และเข้ารับมอบงานเมื่อวันที่ 16เดือนเดียวกัน จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ได้ความว่า ในขณะที่จำเลยที่ 2 เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้นนายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนก่อนได้นำ มติ ก.ต. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามาดำรงตำแหน่งก็ได้รับหนังสือจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาเรื่องที่นายนาม ยิ้มแย้ม กับพวกทูลเกล้าถวายฎีกาขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการตามมติ ก.ต. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 นายนามกับพวกอ้างว่ามติ ก.ต. ดังกล่าวไม่ชอบเพราะเป็นมติที่เกิดจากการประชุมหลังจากประธาน ก.ต. ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมแล้ว และมีบุคคลบางคนที่ได้รับแต่งตั้งยังมีโทษทางวินัยอยู่ เท่ากับเป็นการให้บำเหน็จความดีความชอบแก่บุคคลดังกล่าว เป็นการทวนพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาลดโทษให้จากโทษ “ให้ออก” มาเป็นโทษ “งดบำเหน็จ” นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ยังได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายศรีศักดิ์ อินทรกำแหงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ใจความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการตามมติ ก.ต. วันที่ 11 พฤษภาคม2535 เป็นการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.61 จากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นว่าการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการตามมติดังกล่าวน่าจะไม่ชอบ ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับหนังสือของนายนามกับพวก และหลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 ตามเอกสารหมาย ล.63 ส่งเรื่องการแต่งตั้งโจทก์กับพวกคืนมาเนื่องจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงส่งเรื่องมาให้พิจารณาอีกครั้ง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเรื่องดังกล่าวจำเลยที่ 2 ก็ส่งเรื่องให้จำเลยที่ 3 พิจารณาให้ความเห็นซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ส่งเรื่องไปยังเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการเพื่อพิจารณา เลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการพิจารณาแล้วได้ทำความเห็นเสนอไปยังจำเลยที่ 3 โดยผ่านนายจรัญ หัตถกรรมรองปลัดกระทรวงยุติธรรมฝ่ายวิชาการว่า ควรยืนยันให้จำเลยที่ 2นำมติ ก.ต. ที่กล่าวแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งโจทก์กับพวกต่อไป แต่นายจรัญมีความเห็นว่า มติ ก.ต. ดังกล่าวดำเนินไปภายหลังประธาน ก.ต. ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมสั่งปิดประชุมแล้ว และการแต่งตั้งบุคคลบางตำแหน่งมีปัญหาเกี่ยวกับกรณีถูกลงโทษทางวินัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแส ลดโทษให้ รวมทั้งการแจ้งมติ ก.ต. ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งก็ไม่ได้แจ้งโดยประธาน ก.ต. ตามกฎหมาย แต่แจ้งโดยประธานที่ประชุมชั่วคราว เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือจากนายจรัญจำเลยที่ 3 ก็มีความเห็นพ้องกับนายจรัญ และยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการเกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ น่าจะไม่ชอบตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2521 เมื่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการมีความเห็นขัดแย้งกันเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจหาข้อยุติได้ และเห็นว่าคณะกรรมการตุลาการน่าจะหาทางออกเรื่องนี้ได้ จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 เอกสารหมาย จ.16 ถึงประธาน ก.ต. ให้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุม ก.ต. เพื่อพิจารณา ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นประธาน ก.ต. ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2535 เอกสารหมาย ล.67 แจ้งว่า มติ ก.ต. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เป็นมติที่เกิดขึ้นภายหลังประธาน ก.ต. ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมสั่งปิดประชุมแล้ว จึงเป็นมติที่ไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นมติที่ ก.ต. เสนอและให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจนำเสนอให้ ก.ต. พิจารณาอีกได้ เมื่อข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโจทก์ยังหาข้อยุติไม่ได้ และจำเป็นต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อน จำเลยที่ 2จึงมีหนังสือแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและแจ้งด้วยว่ายังไม่สมควรดำเนินการเพื่อทรงแต่งตั้งตามมติ ก.ต. ดังกล่าว เกี่ยวกับปัญหามติ ก.ต. แต่งตั้งโจทก์ชอบหรือไม่นั้น นอกจากนายจรัญ กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จะมีความเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 เองก็ยังมีความเห็นว่าโจทก์ยังถูกลงโทษงดบำเหน็จอยู่ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.72 ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ รองเลขาธิการในขณะนั้น และความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีพยานโจทก์ที่เบิกความว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแส ลดโทษให้แก่โจทก์ จากโทษ “ให้ออก” มาเป็นโทษ “งดบำเหน็จ” แล้วต้องถือว่าโจทก์ยังมีโทษอยู่คือโทษ “งดบำเหน็จ” จะเห็นได้ว่า ที่จำเลยที่ 2 ยังไม่อาจยืนยันให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมติ ก.ต. ที่แต่งตั้งโจทก์ก็เนื่องมาจากโจทก์มีโทษทางวินัยอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีปัญหาว่า การแต่งตั้งโจทก์ตามมติ ก.ต. วันที่ 11 พฤษภาคม 2535 เป็นการปูนบำเหน็จความชอบหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างนำสืบรับในทำนองเดียวกันว่า ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการแล้วยังเป็นตำแหน่งทางฝ่ายบริหารมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ธุรการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ด้วยถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้การแต่งตั้งโจทก์จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่โจทก์เป็นการขัดกับการที่โจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการหาข้อยุติความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในทางบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญยิ่งก็คือการจะนำเรื่องใดเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งนั้น เรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือนเศษก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น เมื่อมติ ก.ต. แต่งตั้งโจทก์ มีปัญหาซับซ้อนซึ่งจำเลยที่ 2 ก็พยายามหาข้อยุติแต่ยังไม่สามารถจะทำได้เช่นนี้ จะฟังว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ยังมิได้ทั้งจะเห็นได้ว่าในวันที่ 30 กันยายน 2535 อันเป็นวันที่โจทก์เกษียณอายุราชการนั้น ที่ประชุม ก.ต. ก็ยังมีมติให้งดบำเหน็จไม่ขึ้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าโจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่เป็นการสอดคล้องกับความเห็นของจำเลยที่ 2 ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2มีหนังสือยืนยันไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำมติ ก.ต.ที่แต่งตั้งนายสุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ไปเป็นเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ซึ่ง ก.ต. มีมติในคราวเดียวกันกับการแต่งตั้งโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 เบิกความว่าเป็นการยืนยันเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนก่อน ที่มีคำสั่งให้โอนนายสุประดิษฐ์ไปเป็นข้าราชการธุรการ ตำแหน่งเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ และนายสุประดิษฐ์ก็ได้ไปรับมอบงานและปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2535 ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว และนายสุประดิษฐ์ก็มิได้มีโทษทางวินัยแต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 2 เห็นว่า เพื่อให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีในวงการตุลาการ สิ่งใดที่จำเลยที่ 2 สามารถจะปฏิบัติได้ จำเลยที่ 2 ก็จะกระทำ จึงเห็นว่าระหว่างระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 2ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เกิดผลดีแก่ทางราชการโดยยึดถือกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นที่ตั้ง การที่จำเลยที่ 2 พยายามหาข้อยุติความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่แต่งตั้งโจทก์และยังไม่อาจนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น หาใช่จำเลยที่ 2 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์เสียหายอย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ปัญหาต่อไปจะได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 4 ทราบแล้วว่ามติ ก.ต. เมื่อวันที่11 พฤษภาคม 2535 ก.ต. ไม่อาจพิจารณาได้อีกแล้วเพราะพ้นระยะเวลาตามกฎหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะโต้แย้งหรือให้ทบทวนใหม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ให้นำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุม ก.ต. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง จำเลยที่ 4ไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ กลับเก็บเรื่องไว้เกือบ 1 เดือนจึงทำหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2535 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 4 ไม่อาจนำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุม ก.ต. อีกได้ เนื่องจากการประชุม ก.ต. และมีมติดังกล่าวเป็นการประชุมที่ไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 4 สั่งปิดประชุมแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีข้อบังคับใด ๆ ในการประชุมเปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ดังกล่าว มีปัญหาที่ควรวินิจฉัยก่อนว่าการที่จำเลยที่ 4 มีคำสั่งปิดประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535มีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จำเลยที่ 4 จะทำได้หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและเป็นประธาน ก.ต. โดยตำแหน่งในการประชุม ก.ต. ประธาน ก.ต. เป็นประธานที่ประชุมโดยทั่วไปแล้ว ในการประชุมประธานที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการประชุมและรับผิดชอบดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นผลดีแก่ทางราชการ หากไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประธานที่ประชุมจะสั่งเลื่อนหรือปิดประชุมก็ย่อมทำได้หากประธานที่ประชุมได้กระทำการดังกล่าวโดยมิชอบอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ประธานที่ประชุมจะต้องรับผิดชอบ ปัญหาจึงมีว่าการที่จำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุม ก.ต. ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 4มีความจำเป็นและเหตุผลเพียงพอที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่ จากคำเบิกความของพลเอกสุจินดา คราประยูร พยานจำเลยที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ความว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม2535 พลเอกสุจินดาได้ทราบจากองคมนตรีท่านหนึ่งว่า ในวันจันทร์ที่11 พฤษภาคม 2535 ก.ต. จะมีการประชุมแต่งตั้งข้าราชการตุลาการซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย และโจทก์มีโทษทางวินัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแส ลดโทษให้ หากแต่งตั้งไปแล้วจะเป็นการทวนพระราชกระแส และจะเป็นการกระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบกับการแต่งตั้งดังกล่าวมิใช่เรื่องเร่งด่วน พลเอกสุจินดาจึงพยายามติดต่อจำเลยที่ 4 ทาง โทรศัพท์เพื่อให้เลื่อนหรือระงับเรื่องไว้ก่อน จากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ได้ความว่าขณะที่พลเอกสุจินดาโทรศัพท์มาหานั้นจำเลยที่ 4 ไม่อยู่ที่บ้านพลเอกสุจินดาได้ฝากข้อความไว้ เมื่อจำเลยที่ 4 โทรศัพท์ไปหาก็ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่พลเอกสุจินดาขอให้ถอนระเบียบวาระการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการออกไปก่อน จำเลยที่ 4 แจ้งว่าอำนาจในการถอนเรื่องคืนไปเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอกสุจินดาจึงรับจะไปติดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมด้วยตนเอง ในตอนเช้าวันประชุม จำเลยที่ 4 ได้รับแจ้งทาง โทรศัพท์จากพลเอกสุจินดาว่าได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบแล้ว จากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ได้ความว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย ล.80 จากพลเอกสุจินดาแจ้งว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายให้แต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการในระดับสูง ในทุกกระทรวง ทบวง กรม จำเลยที่ 3 จึงติดต่อนายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อปรึกษากันแล้ว นายสวัสดิ์สั่งให้จำเลยที่ 3 รอปรึกษาในตอนเช้าวันประชุมอีกครั้ง ครั้งถึงวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2535 อันเป็นวันประชุมตอนเช้า นายสวัสดิ์ ไม่ไปทำงานตามที่นัดหมายไว้ จำเลยที่ 4 จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆจนกระทั่งถึงวาระการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ จำเลยที่ 3 แถลงขอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระนี้ไปก่อน โดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นว่ามีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่อีก และเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งหากพิจารณาแต่งตั้งไปแล้วจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันชั้นสูงของชาติ ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ได้พยายามชี้แจงและขอร้องให้ที่ประชุมเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป โดยแจ้งว่าการเลื่อนออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควรให้มีการเลื่อนจำเลยที่ 4 จึงอาศัยอำนาจของประธานที่ประชุมสั่งให้เลื่อนและปิดประชุม เมื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นที่จำเลยที่ 4 สั่งปิดประชุมแล้วเห็นว่ามีมูลเหตุมาจากการขอร้องของพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เพื่อให้เกิดผลดีต่อบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านตามรัฐประศาสโนบาย โดยเฉพาะเป็นผู้มีหน้าที่นำมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อพลเอกสุจินดา เห็นว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่ และการแต่งตั้งโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชกระแส การที่พลเอกสุจินดาขอให้จำเลยที่ 4 ถอนเรื่องการแต่งตั้งโจทก์ออกไปก่อน จึงนับว่าชอบด้วยเหตุผลที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองจะพึงปฏิบัติ พลเอกสุจินดาเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการแต่งตั้งโจทก์ เชื่อได้ว่าเป็นคนกลางมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นประธานศาลฎีกาและเป็นประธาน ก.ต. ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์โดยตรงเมื่อมีข้อทักท้วงว่าการแต่งตั้งโจทก์จะกระทำได้โดยชอบและเหมาะสมหรือไม่เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 4 ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน โดยแจ้งว่าการเลื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านแล้วจึงได้สั่งให้เลื่อนและปิดประชุม หากจำเลยที่ 4มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 4 จะไม่นำเรื่องการแต่งตั้งโจทก์บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ย่อมได้ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพิ่งเสนอบัญชีรายชื่อโจทก์มาให้เมื่อวันที่ 8พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันศุกร์ และการประชุมจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2535 ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลากระชั้นชิด แต่จำเลยที่ 4 ก็ยังนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ก็รู้อยู่ว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่การที่ภายหลังต่อมามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมดังกล่าวแล้วจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุมโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 4 รับหนังสือลงวันที่ 13กรกฎาคม 2535 ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2535ซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 4 แกล้งเก็บเรื่องไว้ไม่รีบตอบให้จำเลยที่ 2 ทราบ เพราะหนังสือออกมาหลายวันแล้วและจำเลยที่ 4เพิ่งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2535 นั้นโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าววันใดส่วนจำเลยที่ 4 นำสืบว่าได้รับเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2535โดยนายสมศักดิ์ อัศวชิตานนท์ เจ้าหน้าที่หน้าห้องเป็นผู้นำมาเสนอจำเลยที่ 4 เห็นผิดปกติเนื่องจากหนังสือมาถึงล่าช้า ได้สอบถามนายสมศักดิ์แล้วทราบว่านางวาสนา ศรีสถิตย์ เจ้าหน้าที่กองงาน ก.ต. นำมาส่งให้ในวันนั้น จำเลยที่ 4 จึงให้นายสมศักดิ์บันทึกไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.79 โดยจำเลยมีนายสมศักดิ์มาเป็นพยานเบิกความยืนยันในข้อนี้ เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ววันใดเช่นนี้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 แกล้งเก็บเรื่องไว้ไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหาได้ไม่ ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้ฟังว่าจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังข้อกล่าวหา จำเลยที่ 4จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์