คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาบอกเลิกจ้างโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้จ่ายเงินต่างๆตามสิทธิที่โจทก์จะได้รับ รวมทั้งค่าเสียหายที่จำเลย เลิกจ้างโดยผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ย่อมเป็น การเพียงพอที่จะถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างถึงการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ด้วยแล้ว โจทก์หาจำต้องกล่าวหรือบรรยายมาในฟ้อง โดยชัดแจ้งหรือต้องนำสืบถึงการกระทำอื่นใด ว่าไม่เป็นธรรมอย่างไรอีกไม่ ฉะนั้น ที่ศาลแรงงาน พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ยังไม่มีเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์จึงชอบแล้วมิได้ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2
คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องใจความอย่างเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานมีกำหนดระยะเวลาการจ้างคนละ 4 ปี นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์คนละ 5,470 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2540จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียรายได้ในกำหนดเวลาจ้างที่เหลืออยู่ 3 ปี 6 เดือนคิดเป็นเงินค่าจ้างคนละ271,788 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ทั้งสองขอคิดเพียงเท่ากับอัตราค่าจ้างระยะเวลา12 เดือน เป็นเงินคนละ 65,640 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกคนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้จำเลยเคยมีหนังสือแจ้งว่าจะจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 10,940 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยคนละ 5,470 ดอลลาร์สหรัฐและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 5,470 ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ทั้งสอง จ่ายค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนาคนละ 1,000ดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากผิดสัญญาจ้างแรงงานคนละ 65,640 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ทั้งสองขอคิดคำนวณเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 37 บาทซึ่งคิดเป็นเงินไทยทั้งสิ้นคนละ 2,870,460 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่ลูกจ้างที่นายจ้างจ้างมาแต่ต่างถิ่น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 586 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาให้โจทก์ทั้งสองตามฟ้องแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุต้องการลดค่าใช้จ่ายทางด้านค่าจ้างแรงงาน มิใช่เป็นกรณีเนื่องมาจากขาดทุน ไม่มีเหตุอันควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองการเลิกจ้างดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ404,780 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 404,780 บาทและค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคนละ 720,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองไม่เป็นธรรมอย่างไรการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรมเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ไม่เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น เห็นว่าที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้จ่ายเงินต่าง ๆตามสิทธิที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับ รวมทั้งค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโดยผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยย่อมเป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างถึงการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยแล้วโจทก์ทั้งสองหาจำต้องกล่าวหรือบรรยายมาในฟ้องโดยชัดแจ้งหรือต้องนำสืบถึงการกระทำอื่นใดว่าไม่เป็นธรรมอย่างไรดังที่จำเลยอ้างอีกไม่ ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ยังไม่มีเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว มิได้ขัดต่อบทกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์แต่ประการใด
พิพากษายืน

Share