คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ซึ่งรวมทั้งลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าเอากับลูกหนี้ ต่างต้องยื่นคำขอ รับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเวลากำหนดและกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และมาตรา 101 แต่สิทธิที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ก็ต้อง ทำการตรวจคำขอรับชำระหนี้เสียก่อนตามมาตรา 105 เจ้าหนี้รายที่ 2 ยังไม่เคยชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 5เจ้าหนี้รายที่ 2 จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยตรงจึงไม่อาจกระทำได้ กรณีของเจ้าหนี้รายที่ 2 นี้ จึงเป็นกรณี ที่เจ้าหนี้ขอใช้สิทธิที่ตนจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ รายที่ 5 ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ว่าเจ้าหนี้รายที่ 5ได้ฟ้องเจ้าหนี้รายที่ 2 กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นประกันต่อศาลแล้วก็ตาม ผลของคดีแพ่งก็จะไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ประการใด ในเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เพราะในที่สุดกฎหมายบังคับ ให้เจ้าหนี้รายใดของลูกหนี้ที่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนเต็มที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ต่อไป ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 101 ตอนท้ายของวรรคหนึ่ง และวรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เจ้าหนี้รายที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 5 ในวงเงิน 90,000,000 บาท ซึ่งต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าเป็นจำนวนเงิน 437,301,661 บาท (จำนวนเงินจากสัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองเป็นประกันพร้อมดอกเบี้ย) จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 104แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ส่วนลูกหนี้ไม่มาตรวจคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้รายที่ 2ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนเงินที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าเนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1) ประกอบมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2
เจ้าหนี้รายที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้รายที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526วันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 และวันที่ 14 ธันวาคม 2526 ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เงินจากเจ้าหนี้รายที่ 5 จำนวน 3 ฉบับ เป็นเงินรวม110,000,000 บาท ในวันที่ 14 ธันวาคม 2526 เจ้าหนี้รายที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของลูกหนี้ตามสัญญากู้ไว้กับเจ้าหนี้รายที่ 5 ในวงเงิน 90,000,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 972พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันในวงเงินจำนอง 73,000,000 บาทต่อมากิจการของลูกหนี้มีหนี้สะสมเพิ่มจำนวนมากผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนเงินของสัญญากู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ที่ลูกหนี้ยังค้างชำระเงินต้นถึงวันที่ 1 กันยายน 2533 เป็นเงิน 90,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 (วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด) เป็นเงิน 30,205,479.45 บาท รวมเป็นเงิน 120,205,479.45 บาท กับหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน 26,105,479.45 บาท รวมเป็นเงินที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้งสิ้น 146,310,958.90 บาท ในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 2 ว่า เจ้าหนี้รายที่ 2 ยังมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้รายที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันอันอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้หรือไม่เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ซึ่งรวมทั้งลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าเอากับลูกหนี้ต่างต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเวลากำหนดและกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 และมาตรา 101แต่สิทธิที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ก็ต้องทำการตรวจคำขอรับชำระหนี้เสียก่อนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของนายทรงเกียรติ ชัยชูพฤกษ์ ที่ปรึกษาบริษัทเจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งให้การไว้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้รายที่ 2 ยังไม่เคยชำระเงินให้กับเจ้าหนี้รายที่ 5แต่อย่างใด ดังนี้ เจ้าหนี้รายที่ 2 จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยตรงจึงไม่อาจกระทำได้ กรณีของเจ้าหนี้รายที่ 2 นี้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ขอใช้สิทธิที่ตนจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้เท่านั้นตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 2 ว่าเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ฟ้องเจ้าหนี้รายที่ 2 กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นประกันต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ 22354/2538 แล้วก็ตาม ผลของคดีแพ่งก็จะไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่ประการใดจะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยตรง จึงไม่อาจกระทำได้ กรณีของเจ้าหนี้รายที่ 2 นี้จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ขอใช้สิทธิที่ตนจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้เท่านั้น ตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 2ว่าเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ฟ้องเจ้าหนี้รายที่ 2 กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นประกันต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีหมายเลขดำที่ 22354/2538 แล้วก็ตาม ผลของคดีแพ่งก็จะไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่ประการใดในเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเพราะในที่สุดกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้รายใดของลูกหนี้ที่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนเต็มที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดดังคำให้การของนายสืบพงศ์ บุณยรัตพันธุ์กรรมการบริษัทเจ้าหนี้รายที่ 2 ว่าเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มาในคดีนี้เต็มจำนวนแล้วเอกสารที่เจ้าหนี้รายที่ 5ยื่นประกอบการขอรับชำระหนี้เป็นเอกสารแห่งหนี้รายเดียวกันกับที่เจ้าหนี้รายที่ 2 ค้ำประกันเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 5 ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เต็มจำนวน 120,205,479.45 บาท แล้ว ดังนั้นที่เจ้าหนี้รายที่ 2 ขอรับชำระหนี้มาจำนวน 437,301,661 บาทจึงฟังได้ว่ามิใช่จำนวนหนี้ที่แท้จริงที่เจ้าหนี้รายที่ 2จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ต้องถือว่าเจ้าหนี้รายที่ 5ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมทั้งสามฉบับเต็มจำนวนแล้วเจ้าหนี้รายที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ต่อไป ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 101 ตอนท้ายของวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 2 ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(1) ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share