แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาโจทก์มิได้บรรยายถึงคำฟ้องและคำให้การอันมีมาแต่แรก แต่โจทก์ได้บรรยายมาในฎีกาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอย่างไร คู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าอย่างไร นอกจากนี้ฎีกาโจทก์ยังได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งคำพิพากษา ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ชอบหรือผิดพลาดในข้อใดอย่างไร และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ส่วนคำขอท้ายฎีกาโจทก์ก็ขอให้ศาลฎีกา แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้โจทก์ฎีกาจะไม่ได้บรรยายถึงคำฟ้องและคำให้การอันมีมาแต่ศาลชั้นต้นว่าเป็นอย่างไร ฎีกาโจทก์ก็ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ฟ้องตั้งรูปว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นทางภารจำยอมโดยมิได้วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่หากศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทางพิพาท ไม่ใช่ทางภารจำยอมและข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นทางจำเป็นได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและมีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินทางด้านทิศใต้ติดต่อกับที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือที่ดินของโจทก์ถูกล้อมโดยที่ดินแปลงอื่นไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ โดยที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงหนึ่งที่ล้อมที่ดินของโจทก์ และติดทางสาธารณประโยชน์ หากโจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ก็จะเป็นทางตรง มีระยะสั้น และสะดวกกว่า ไปใช้ทางอื่น ถือได้ว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 เมื่อโจทก์ผู้มีสิทธิจะผ่านทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 826ตามรูปแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง ตกเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นของที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยไปจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นทางภารจำยอม ตัดต้นกล้วย ปรับสภาพที่ดินให้เป็นทางสภาพเดิมและห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับการใช้ทางพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์ทั้งสี่สามารถตัดต้นกล้วย ปรับสภาพที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13กว้าง 3 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมให้จำเลยเปิดทางภารจำยอมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 826 หมู่ที่ 3 ให้จำเลยตัดต้นกล้วยนำสิ่งกีดขวางออกไปจากทางภารจำยอมและให้ปรับสภาพที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสภาพเดิม หากจำเลยไม่กระทำให้โจทก์เป็นผู้กระทำแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมลงในที่ดิน น.ส.3 ก. ของจำเลย โดยให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทกว้าง 3 เมตรบนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 826 สุดเขตด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยยาวตลอดแนวเขตเป็นทางจำเป็น โจทก์ทั้งสี่และบริวารในที่ดินโฉนดที่ 13882 น.ส.3 เลขที่ 354 และที่ดินที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4มีสิทธิครอบครองตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 มีสิทธิใช้ คำขอให้จดทะเบียนทางเดินและคำขอที่ขอให้สั่งโจทก์เป็นผู้ตัดต้นกล้วยนำสิ่งกีดขวางออกไปจากทางพิพาทแล้วปรับสภาพที่ดินดังกล่าวให้เป็นสภาพเดิมโดยจำเลยเป็นผู้เสียหายค่าใช้จ่ายให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แต่เป็นทางภารจำยอมโดยอายุความนั้น เมื่อศาลฎีกาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี แม้โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยปรปักษ์ก็ตาม ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยอายุความ
ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ฎีกาโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายถึงคำฟ้องและคำให้การอันมีมาแต่ศาลชั้นต้นว่าเป็นอย่างไร ทั้งคำขอท้ายฎีกาก็มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งสี่ประสงค์ให้ศาลฎีกาบังคับจำเลยอย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้ฎีกาโจทก์ทั้งสี่ จะมิได้บรรยายถึงคำฟ้อง คำให้การอันมีมาแต่แรก แต่ก็ได้บรรยายว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอย่างไร คู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าอย่างไร กับขอถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาโจทก์ทั้งสี่ นอกจากนี้ฎีกาโจทก์ทั้งสี่ได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่ชอบหรือผิดพลาดในข้อใดอย่างไรและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนคำขอท้ายฎีกาโจทก์ทั้งสี่ก็ขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาโจทก์ทั้งสี่จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แล้ว
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจึงเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นนั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องตั้งรูปว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นทางภารจำยอม โดยมิได้วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้งที่ทางพิพาทนี้อาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภารจำยอมในขณะเดียวกันได้ แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางภารจำยอมและข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็นศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็นว่าทางจำเป็นหรือไม่ได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น เนื่องจากโจทก์มีคำขอมาตั้งแต่ต้นแล้ว มิฉะนั้นโจทก์ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งโจทก์จำเลยก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้วซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินและมีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินทางด้านทิศใต้ติดต่อกับที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ที่ดินของฝ่ายโจทก์ทั้งสี่ถูกล้อมโดยที่ดินแปลงอื่น ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 ที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงหนึ่งที่ล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสี่และติดทางสาธารณประโยชน์คือถนนพัฒนาหรือถนนสายบ้านโพธิ์ตะวันออกหรือถนนหนองตาโมจากที่ดินของฝ่ายโจทก์ทั้งสี่หากได้ใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยติดกับเขตที่ดินของนางสาคร สะอาดดีออกสู่ทางสาธารณประโยชน์จะเป็นทางตรง มีระยะสั้น และสะดวกกว่าไปใช้ทางอื่นตามแผนที่ เอกสารหมาย จ.13 เห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เว้นแต่จะผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งใกล้ทางสาธารณะที่สุด ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ปัญหาว่าทางพิพาทกว้างเท่าใดนั้น โจทก์ฟ้องอ้างว่าทางพิพาทกว้าง 2 วา แต่คำเบิกความของโจทก์ทั้งสี่ต่างแตกต่างกันไปกล่าวคือ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ทางพิพาทกว้าง 2 วาเศษโจทก์ที่ 3 ที่ 4 เบิกความว่า ทางพิพาทกว้าง 6 ศอก แต่โจทก์ที่ 3เบิกความว่า ทางพิพาทกว้าง 8 ศอก ไม่อาจรับฟังไปทางใดทางหนึ่งได้แต่จากการเผชิญสืบศาลชั้นต้นบันทึกว่าทางพิพาทกว้างประมาณ 2 เมตรเพราะฉะนั้นทางพิพาทจึงควรมีความกว้าง 2 เมตร ดังจำเลยฎีกาโต้เถียง และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียในคราวเดียวกันนี้ว่าผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นนั้น มีหน้าที่ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้นตามมาตรา 1349 วรรคท้าย เพราะฉะนั้นโจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลย ได้ความจากจำเลยเองว่าจำเลยเคยบอกฝ่ายโจทก์ว่าจะขายทางพิพาทในราคา 150,000 บาทและที่ดินที่ใช้สร้างบ้านบริเวณนั้นราคาไร่ละ 500,000 บาทถึง 600,000 บาท แต่นางศรีนวล วันชะเอม พยานโจทก์เบิกความว่าที่ดินบริเวณนั้นขายกันในราคาไร่ละ 30,000 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงสภาพของที่ดิน และเนื้อที่ทางจำเป็นกว้าง 2 เมตร ยาว 30 วาจะเป็นเนื้อที่ 30 ตารางวา แล้วเห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนให้แก่จำเลย 60,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทกว้าง 2 เมตร บนที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 826 สุดเขตด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยยาวตลอดแนวเขตเป็นทางจำเป็นโจทก์ทั้งสี่และบริวารในที่ดินโฉนดที่ 13882 น.ส.3เลขที่ 354 และที่ดินที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิครอบครองตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 มีสิทธิใช้ ให้จำเลยรื้อสิ่งกีดขวางออกห้ามขัดขวาง แต่โจทก์ทั้งสี่ต้องร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงิน 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3