คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาล สั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน ของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมิใช่ให้สิทธิ แก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลย เป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธิ นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้น เพื่อแสดงว่าจำเลย เป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลที่สั่งริบทรัพย์สินของกลางได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนของกลางได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 91, 83, 33 และริบของกลาง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่อาวุธปืนของกลางให้ริบ คดีถึงที่สุดโดยคู่ความมิให้อุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและเป็นเจ้าของอาวุธปืนสั้นนออโตเมติก ขนาด 9 มม.ทะเบียน กท.2807636 หมายเลขประจำปืน 52163 ของกลางซึ่งศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางจึงไม่มีอำนาจร้องขอคืนอาวุธปืนของกลางเพราะอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า คดีเดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องกับพวกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าผู้ร้องกับพวกฆ่าผู้ตาย มีเหตุสงสัยว่าผู้ร้องได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ให้ยกฟ้องแต่อาวุธปืนของกลางให้ริบ คดีถึงที่สุดและอาวุธปืนของกลางที่ศาลมีคำสั่งริบดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลางที่ศาลมีคำสั่งริบดังกล่าวได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36มิได้บัญญัติว่าบุคคลภายนอกเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบและมิได้ห้ามผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยไม่ให้ใช้สิทธิเช่นนั้นแต่อย่างใด จึงไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของอาวุธปืนของกลางที่แท้จริงและไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดต้องคืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ดังกล่าว แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด มิใช่ให้สิทธิแก่จำเลยในคดีนั้นจะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วยเพราะหากจำเลยเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจำเลยก็ย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้น เพื่อแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลที่สั่งริบทรัพย์สินของกลางได้อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนของกลางได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share