แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์และจำเลยเป็นอิสลามศาสนิก อยู่ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว และมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการนั้นก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว และมรดกไม่มีบัญญัติไว้ว่าทรัพย์สินที่ซื้อมาระหว่างสมรส เป็นสินสมรสระหว่างผู้ซื้อกับคู่สมรสหรือเป็นสินส่วนตัว ของผู้ซื้อ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับแก่กรณี โจทก์สมรสกับจำเลยตามกฎหมายอิสลามตั้งแต่ พ.ศ. 2521และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยซื้อมาจากเงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ได้สมรสตามหลักศาสนาอิสลาม และจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2527 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 16 โจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2530 จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4887 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน20 ตารางวา เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย 11 แปลง และกันที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณะ และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 5168 ถึง 5178 ในชื่อจำเลยที่ 1 ในวันที่ 8ตุลาคม 2536 โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจะขายที่ดินทั้ง 11 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงแจ้งอายัดที่ดินไว้ต่อสำนักงานที่ดินอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ทราบแต่ยังโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่กันในราคา 300,000 บาท โดยเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินอำเภอตากใบ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2536 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2เข้าไปตัดฟันโค่นต้นไม้ปรับพื้นที่ทำการก่อสร้างบ้านในที่ดิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทั้ง 11 แปลง แก่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ก่อสร้างในที่ดินทั้ง 11 แปลง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้หย่ากันตามหลักศาสนาอิสลามเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1กับโจทก์ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วจึงได้ทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กระทำถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 รวม 11 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5168 ถึง 5178 ให้จำเลยที่ 2รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ได้ก่อสร้างในที่ดินพิพาท ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นอิสลามศาสนิกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดนราธิวาส สมรสกันตามกฎหมายอิสลาม เมื่อปี 2521 และจดทะเบียนสมรสกันในปี 2527ที่ดินพิพาท 11 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 5168 ถึง 5178 เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 16 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโดยซื้อมาจากนางนินะ นิแม จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันเมื่อวันที่ 31มกราคม 2530 ในขณะที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากัน ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลงให้จำเลยที่ 2
คงมีปัญหาในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงประเด็นเดียวว่าที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1หรือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ปัญหานี้แม้โจทก์และจำเลยที่ 1เป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้นก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกไม่มีบัญญัติไว้ว่าทรัพย์สินที่ซื้อมาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสระหว่างผู้ซื้อกับคู่สมรสหรือเป็นสินส่วนตัวของผู้ซื้อจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับแก่กรณีโจทก์สมรสกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายอิสลามตั้งแต่ปี 2521 และศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของตามที่โจทก์นำสืบมิใช่นางแวแยเป็นผู้ซื้อ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยซื้อมาจากเงินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำมาหาได้ร่วมกันอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1)หาใช่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่
พิพากษายืน