คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้ เป็นไปโดยรอบคอบเป็นเหตุให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจาก การเป็นลูกจ้างของจำเลย การเลิกจ้างที่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ก่อน เป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่ ถูกกล่าวหาทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาและคำขอบังคับที่ให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าขาดรายได้ประจำเงินโบนัส ส่วนรายละเอียดในการจ้าง การเลิกจ้าง และข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิด เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้โจทก์มีส่วนร่วมในความผิดพลาดในการวิเคราะห์ลูกหนี้และการประเมินราคาหลักทรัพย์ และโจทก์ประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบเพียงพอให้สมกับตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่มีหน้าที่ดูแลระมัดระวังผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยเสียหาย และการปล่อยสินเชื่อของโจทก์ก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยตรง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงแต่ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลย และโจทก์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสาขา มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกอย่างในสาขา การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องย่อมทำให้จำเลย เสียหายแม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์เพียงแต่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ไม่ถึงขั้นกรณีที่ร้ายแรง และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำผิดในประการอื่นอีก จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยกำหนดว่า พนักงาน ที่จำเลยให้ออกหรือไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างหนึ่ง อย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ บำนาญและ เงินพิเศษใด ๆ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย (2) จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร (5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท (7) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง(8) มีพฤติการณ์ที่ทำให้ขาดความไว้วางใจ หรือมีมลทินมัวหมอง หากให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลย แต่การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรง จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามระเบียบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเขตมีหน้าที่กำกับควบคุมดูแลจัดการสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1และเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการสาขาสงขลาจำเลยที่ 2 ได้กลั่นแกล้งโจทก์โดยเสนอให้มีการย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานประจำ สำนักงานเขต 16 อันเป็นการลดตำแหน่งหน้าที่เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ลาออก เมื่อโจทก์ไม่ลาออก จำเลยที่ 2ก็กลั่นแกล้งอีกโดยเสนอให้จำเลยที่ 1 สอบสวนทางวินัยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่กลั่นกรองลูกค้าและจงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการอนุมัติสินเชื่อขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสงขลา โดยจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนด้วย การสอบสวนของคณะกรรมการมิได้เป็นไปโดยรอบคอบจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวหา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีงานทำเพื่อเลี้ยงชีพ หากโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปจะครบกำหนดเกษียณอายุ 60 ปี เป็นเวลา 3 ปี 7 เดือนเศษ ทำให้ขาดรายได้คิดถึงวันครบเกษียณอายุจะขาดรายได้เป็นเงิน 965,700 บาททั้งโจทก์เสียสิทธิที่จะได้เงินบำเหน็จ 665,000 บาท และหากทำงานต่อไปจนอายุ 60 ปี ก็จะได้เงินบำเหน็จเพิ่มอีก 76,000 บาทนอกจากนี้โจทก์ขาดรายได้จากเงินโบนัสซึ่งมีสิทธิได้ปีละ 4 เท่าของเงินเดือน นับแต่ปี 2539 อันเป็นปีที่ถูกเลิกจ้างจนถึงปี 2543 อันเป็นปีครบกำหนดเกษียณอายุ เป็นเงิน 380,000 บาทโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มากว่า 35 ปี เมื่อจำเลยที่ 1เลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 133,200 บาท ทั้งยังต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน เป็นเงิน44,400 บาท การเลิกจ้างดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 โดยได้รับค่าจ้างและผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับช่วงระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรหากไม่สามารถบังคับได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ขาดรายได้ประจำเป็นเงิน 965,700 บาท เงินบำเหน็จ741,000 บาท เงินโบนัส 380,000 บาท ค่าชดเชย 133,200 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 44,400 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ 10,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,264,300 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขณะที่โจทก์เป็นผู้จัดการสาขาสงขลาได้อนุมัติสินเชื่อเงินกู้ให้ผู้ซื้อที่ดินเปล่าในโครงการจัดสรรที่ดินในจังหวัดสงขลาหลายร้อยราย ส่วนใหญ่ลูกหนี้ดังกล่าวผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมอบหมายให้ส่วนวินัยและพนักงานสัมพันธ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อ ได้ความว่าโจทก์และพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ปฏิบัติโดยบกพร่องต่อหน้าที่ในการประเมินราคาหลักทรัพย์ การวิเคราะห์ลูกค้าการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายต่อมาจำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์และพวกซึ่งประธานกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบแล้วว่าขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสงขลา โจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการอนุมัติสินเชื่อโดยสำรวจและประเมินราคาหลักทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง รายงานข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสาธารณูปโภคซึ่งไม่มี แต่โจทก์รายงานว่ามี หรือเป็นเพราะเข้าใจผิดในเรื่องเกี่ยวกับน้ำบาดาลว่า หมายถึงบ่อน้ำบาดาลที่ใช้ระบบโยกตามที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจัดทำขึ้น และไฟฟ้าหมายถึง มีไฟฟ้าผ่านโครงการก็คือมีไฟฟ้าแล้ว ได้อนุมัติสินเชื่อโดยไม่คัดเลือกลูกค้าตามระเบียบ เป็นเหตุให้ได้ลูกค้าคุณภาพต่ำ และจงใจขัดคำสั่งจำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับคำสั่งระงับการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าเพื่อซื้อที่ดินเปล่าชั่วคราว การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. 2533 ข้อ 24(1)(2)(3)(6)(8) ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2539จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานโดยไม่จ่ายเงินบำเหน็จ หรือเงินพิเศษใด ๆ รวมทั้งค่าชดเชย เพราะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเป็นไปโดยจงใจให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องว่ามีรายละเอียดในการจ้างที่เป็นข้อสำคัญอย่างไรการเลิกจ้างไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร โจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาอย่างไร จึงมีข้อหาและสภาพคำขอบังคับไม่ชัดแจ้งขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยโดยจงใจขัดคำสั่งผู้จัดการเขต 16 ที่ให้ระงับการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินชั่วคราวอันเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวหา คงฟังได้เพียงว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบเพียงพอให้สมกับตำแหน่งหน้าที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบอย่างเคร่งครัดจนเกิดความบกพร่องผิดพลาดในการวิเคราะห์ลูกหนี้และประเมินราคาหลักทรัพย์เกินความเป็นจริง เป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับ เอกสารหมาย ล.4 ข้อ 24(12) แต่หาได้เป็นการจงใจให้จำเลยที่ 1 เสียหายไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยที่ 1 ชอบที่จะต้องมีหนังสือว่ากล่าวตักเตือนก่อนเมื่อโจทก์ยังคงฝ่าฝืนกระทำผิดอีก จึงชอบที่จะเลิกจ้างได้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยมิได้มีหนังสือตักเตือนก่อนจึงเป็นการเลิกจ้างที่มิชอบ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 121,200 บาท และ 26,933 บาทตามลำดับ กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม665,000 บาท เงินบำเหน็จ 646,000 บาท รวม 1,459,133 บาทพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงิน 1,459,133 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2539จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2504 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการประจำสำนักงานเขต 16 เงินเดือน 19,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,200 บาท เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กับพวกโดยกล่าวหาว่ากระทำการซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดวินัย 2 ประการ คือ ประการแรกจงใจขัดคำสั่งผู้จัดการเขต 16 ที่ให้ระงับการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินชั่วคราวตามเอกสารหมาย ล.29 ประการที่สองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการวิเคราะห์ลูกหนี้ซึ่งมีการกระทำที่ประกอบด้วยการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับโครงการจัดสรรที่ดินว่ามีสาธารณูปโภคคือ ไฟฟ้าและน้ำบาดาลแล้ว กับวิเคราะห์ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ไม่รอบคอบ และประเมินราคาหลักทรัพย์เกินกว่าความเป็นจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงาน
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้เป็นไปโดยรอบคอบจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนอันเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าขาดรายได้ประจำ เงินโบนัส ส่วนรายละเอียดในการจ้าง การเลิกจ้างและข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิด เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ส่วนปัญหาว่า โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลูกหนี้ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า โจทก์มีส่วนร่วมในความผิดพลาดในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ประเมินราคาหลักทรัพย์และประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบเพียงพอให้สมกับตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่มีหน้าที่ดูแลระมัดระวังผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัดพ.ศ. 2533 หมวด 5 เรื่อง วินัยและการรักษาวินัย ข้อ 24(12)เอกสารหมาย ล.4 แล้ว แต่เห็นได้ว่าการกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยที่ 1เสียหาย และการปล่อยสินเชื่อของโจทก์ก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสาขาสงขลา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสาขา และมีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกอย่างในสาขานี้ การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายร้ายแรงก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
ส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ต่อเมื่อการเลิกจ้างเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่อเมื่อการเลิกจ้างเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แต่การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว เพราะโจทก์เพียงแต่บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งไม่ถึงขั้นกรณีที่ร้ายแรง และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อนทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 อันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำผิดในประการอื่นอีก จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ สำหรับเงินบำเหน็จนั้น ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จกำหนดว่าพนักงานที่จำเลยที่ 1 ให้ออกหรือไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ บำนาญ และเงินพิเศษใด ๆ ข้อ 27(1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลยที่ 1(2) จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร (5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท (7) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (8) มีพฤติการณ์ที่ทำให้ขาดความไว้วางใจ หรือมีมลทินมัวหมอง หากให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยที่ 1 แต่การกระทำของโจทก์ตามที่ได้วินิจฉัยมาเป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายร้ายแรง จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามระเบียบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share