คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อพยานโจทก์มิได้รู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างสายลับ กับจำเลยโดยตรงจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าคำของพยานโจทก์นี้จึงมีน้ำหนักน้อยและโดยที่พยานโจทก์นี้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยถึงวันรุ่งขึ้นจึงไปตรวจค้นที่บ้าน ของจำเลย ซึ่งแม้จะพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในกระเป๋าเสื้อของ จำเลยที่แขวนอยู่ ก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์นี้มีเหตุผลเพิ่มขึ้น เพราะสายลับอาจมอบธนบัตรให้แก่จำเลยด้วยเหตุผลอื่น มิใช่เพื่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนก็ได้ประกอบกับหมายค้นที่ใช้ในการตรวจค้นบ้านของจำเลย กลับเป็นหมายค้นที่ออกให้เพื่อทำการตรวจค้นบ้านบุคคลอื่นมิใช่บ้านจำเลยด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีพิรุธ มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนี้ให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 59, 89 และคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือนคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสุพล แสงทอง นายดาบตำรวจทรงศักดิ์ แก้วไกรทองและจ่าสิบตำรวจสุวิทย์ ไต่สุนา พยานโจทก์ว่า ได้รับแจ้งจากสายลับว่าที่บ้านจำเลยมีการลักลอบขายเมทแอมเฟตามีนจึงวางแผนจับกุม โดยมอบธนบัตรซึ่งได้ถ่ายสำเนาและลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้แล้วให้แก่สายลับเพื่อใช้เป็นเงินล่อซื้อ เมื่อสายลับได้รับมอบเงินดังกล่าวก็เดินทางไปที่บ้านจำเลยส่วนร้อยตำรวจตรีสุพลกับพวกมิได้ติดตามไปด้วยโดยร้อยตำรวจตรีสุพลคอยฟังข่ายอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเลาขวัญส่วนจ่าสิบตำรวจสุวิทย์รออยู่ที่ป้อมยามสายตรวจหนองประดู่จนกระทั่งเวลาประมาณ 21 นาฬิกาสายลับกลับมาแจ้งให้จ่าสิบตำรวจสุวิทย์ทราบว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ดจากจำเลยได้แล้ว พร้อมกับมอบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้จากนั้นจ่าสิบตำรวจสุวิทย์วิทยุแจ้งให้ร้อยตำรวจตรีสุพลทราบต่อมาวันรุ่งขึ้นพยานทั้งสามได้ไปที่บ้านจำเลยขอตรวจค้น ปรากฏว่าพบธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อในกระเป๋าเสื้อของจำเลยที่แขวนอยู่จึงแจ้งข้อหาและจับจำเลย ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพเห็นว่าโจทก์คงมีแต่คำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสุพลนายดาบตำรวจทรงศักดิ์ และจ่าสิบตำรวจสุวิทย์ ที่ยืนยันว่าจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับตามที่สายลับแจ้งให้ทราบพยานโจทก์ทั้งสามไม่ได้รู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างสายลับกับจำเลยด้วยตนเอง คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักในการรับฟังได้น้อย และพยานโจทก์ทั้งสามกับพวกปล่อยระยะเวลาจนล่วงเลยถึงวันรุ่งขึ้นจึงได้ไปตรวจค้นที่บ้านจำเลย แม้จะพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในกระเป๋าเสื้อของจำเลยที่แขวนอยู่ก็ไม่อาจทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ทั้งสามีเหตุผลเพิ่มขึ้น เพราะสายลับอาจมอบธนบัตรดังกล่าวให้แก่จำเลยด้วยเหตุอื่น อันมิใช่เกิดจากการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนก็ได้ ประกอบกับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อหาได้ตรวจพบที่ตัวจำเลยไม่ นอกจากนี้ตามหมายค้นเอกสารหมาย จ.3บ้านที่ขอตรวจค้นกลับเป็นบ้านนายชำนาญ ปุยสมุทร มิใช่บ้านจำเลยตามที่สายลับแจ้งให้ทราบ ยิ่งทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีพิรุธขาดน้ำหนักที่จะรับฟังได้ สำหรับคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.4 นั้นได้ความว่า ในวันเดียวกันนั้น เมื่อร้อยตำรวจเอกประเทือง สุทธการีพนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยไว้สอบสวน จำเลยกลับให้การปฏิเสธทันที ดังนั้น คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมดังกล่าวอาจมีนัยดังที่จำเลยต่อสู้ก็ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

Share