แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเพิ่มภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เป็นกรณีที่ศาลกำหนดระยะเวลาโดยอาศัยอำนาจศาลที่มีอยู่ทั่วไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะหรือห้ามไว้ไปในทางที่เห็นว่ายุติธรรมและสมควร แต่เมื่ออ่านคำพิพากษาฎีกาแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งอีกครั้งหนึ่งให้โจทก์วางประกันเพิ่มภายในกำหนด 45 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 และศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวได้แต่การขยายระยะเวลาเช่นว่านี้ให้พึงกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย โจทก์อ้างเหตุผลตามคำร้องของโจทก์ในการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23แต่เพียงว่า จำนวนเงินที่ต้องวางศาลมีจำนวนสูงถึง70,000,000 บาท โจทก์พยายามหาเงินเพื่อนำมาวางศาลให้ทันในกำหนดแต่หาไม่ทัน ทั้งโจทก์ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ นอกจาก รายได้พอใช้จ่ายเป็นเดือน ๆ เท่านั้นเหตุผลในคำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะ เวลาการวางเงินประกันค่าเสียหายให้โจทก์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสอง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่พิพาท ทั้ง 21 แปลงแล้วให้ใส่ชื่อผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจในที่ดินดังกล่าว
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลงและให้ระงับการก่อสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าวและห้ามจำเลยที่ 7 รับจดทะเบียนนิติกรรมใด ๆ ในที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยื่นคำคัดค้าน
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 12 ถึงแก่กรรมนางสาวเย็นฤดี อุดมทรัพย์ บุตรของจำเลยที่ 12 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลง ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้โจทก์วางเงินประกันเป็นเงิน 17,000,000 บาท ก่อนมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดิน
ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นถอนหรือยกเลิกคำสั่งทั้งหมด หากไม่สมควรถอนหรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ก็ขอให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งโดยกำหนดให้โจทก์วางเงินประกันเป็นเงิน 100,000,000 บาท
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันเพิ่มอีก 53,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 70,000,000 บาทภายใน 45 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง มิฉะนั้นให้ยกเลิกคำสั่งเดิมห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินทั้ง 21 แปลง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 และมีคำสั่งในวันเดียวกันให้โจทก์วางเงินประกันเพิ่มอีก 53,000,000 บาท รวมเป็นเงิน70,000,000 บาท ภายใน 45 วันนับแต่วันมีคำสั่ง มิฉะนั้นให้ยกเลิกคำสั่งเดิมซึ่งโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่คำสั่งแล้ว วันที่ 30 ตุลาคม 2539 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เป็นเพียงผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ไม่มีทรัพย์สินใดของโจทก์ตกทอดมายังผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ซึ่งมีรายได้พอใช้จ่ายไปเดือน ๆ เท่านั้น หลักทรัพย์ที่กำหนดมีจำนวนสูงถึง70,000,000 บาท ซึ่งโจทก์วางไว้แล้ว 17,000,000 บาทขณะนี้โจทก์กำลังหาหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติมจึงขอขยายเวลาการวางหลักประกันเพิ่มออกไปอีก 180 วัน นับแต่วันครบกำหนดที่โจทก์จะต้องวางหลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงต้องวางหลักประกันภายในกำหนดและไม่มีสิทธิขอขยายเวลาอีก ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหายเพิ่มรวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ภายใน 45 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง โจทก์จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งศาลที่ให้โจทก์วางเงินสูงถึง 70,000,000 บาท โจทก์ได้พยายามหาหลักทรัพย์มาวางประกันให้ทันภายในกำหนดแต่ไม่สามารถหาได้ทัน โจทก์ควรมีสิทธิขอขยายระยะเวลาได้อีกตามสมควรนั้นเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเพิ่มรวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เป็นกรณีที่ศาลกำหนดระยะเวลาโดยอาศัยอำนาจศาลที่มีอยู่ทั่วไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะหรือห้ามไว้ไปในทางที่เห็นว่ายุติธรรมและสมควรแต่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอีกครั้งหนึ่งว่าให้โจทก์นำเงินจำนวน 53,000,000 บาท มาวางประกันเพิ่มภายในกำหนด 45 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโจทก์จึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินออกไปอีก180 วัน นับแต่วันครบกำหนดตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ดังนี้เป็นกรณีที่โจทก์ร้องขอขยายระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินออกไปอีก 180 วัน ก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอดังกล่าวได้
ปัญหาต่อไปมีว่า มีพฤติการณ์พิเศษที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลาการวางเงินออกไปอีกหรือไม่ ได้ความตามคำร้องของโจทก์แต่เพียงว่า จำนวนเงินที่ต้องวางศาลมีจำนวนสูงถึง70,000,000 บาท โจทก์พยายามหาเงินเพื่อนำมาวางศาลให้ทันในกำหนดแต่หาไม่ทัน ทั้งโจทก์ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ นอกจากรายได้พอใช้จ่ายเป็นเดือน ๆ เท่านั้น ตามเหตุผลในคำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่จะขยายระยะเวลาการวางเงินประกันค่าเสียหายให้โจทก์ได้
พิพากษายืน