คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงภารจำยอมเรื่องทางเดินมิได้ระบุแนวเขตเส้นทางภารจำยอมไว้ ภารจำยอมดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงประโยชน์ในการใช้ภารจำยอมในทุกส่วนของที่ดิน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองยังคงใช้ที่ดินภารจำยอมส่วนที่โรย กรวด หิน ส่วนที่ดินภารจำยอมในส่วนที่มีหญ้าและต้นไม้ขึ้นปกคลุมแม้จำเลยทั้งสองไม่อาจใช้เป็น ทางเดินตามปกติแต่ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับที่ดิน ที่โรย กรวด หิน ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้ประโยชน์ ในที่ดินดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองและพนักงานประมาณ 300 คน ตลอดจนใช้ยานพาหนะเข้าออกเส้นทางภารจำยอม ดังกล่าวเป็นเวลาข้านานจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้ ละทิ้งจะถือว่าจำเลยทั้งสองสละสิทธิมิได้ ที่ดินพิพาท ยังคงเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินจำเลยทั้งสองและยัง ไม่หมดประโยชน์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 8584 ของโจทก์ตกเป็นภารจำยอมประเภททางเดินทั้งแปลงแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5572 ของจำเลยทั้งสอง ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 5572ได้แบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 5572 ของจำเลยที่ 1และที่ดินโฉนดเลขที่ 157013 ถึง 157018 ของจำเลยที่ 2จำเลยทั้งสองใช้ที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นเส้นทางรถยนต์และทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะส่วนที่ดินส่วนที่เหลือทางด้านทิศตะวันตกกว้าง 81 เซนติเมตรยาวตลอดแนวเขตที่ดิน เนื้อที่ 10 ตารางวา จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ต่อมาโจทก์แบ่งแยกที่ดินส่วนนี้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 75177 อีกแปลงหนึ่ง ขอให้พิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 75177 พ้นจากภารจำยอม ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมดังกล่าว มิฉะนั้นให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองใช้ทางภารจำยอมทางด้านทิศตะวันตกซึ่งมีความกว้างประมาณ1 เมตรตลอดมา โดยใช้เป็นทางเดินและรถยนต์แล่นผ่านทุกวัน ทั้งยังมีเสาไฟฟ้าปักและวางท่อน้ำประปาผ่านในที่ดินส่วนนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมนางเพี้ยน โรจนเสนา เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8584ตำบลพระโขนง(บางจาก) อำเภอคลองเตย(พระโขนง)กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อปี 2521นางเพี้ยนทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8584ตกเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 5572ตำบลและอำเภอเดียวกัน เอกสารหมาย จ.4 ตามบันทึกข้อตกลงภารจำยอมเรื่องทางเดิน เอกสารหมาย จ.12 เมื่อปี 2535โจทก์ได้รับการให้ที่ดินดังกล่าวและโจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8584 ออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 75177 กว้างประมาณ 81 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวจากด้านซอยสุขุมวิท 77 (ซอยอ่อนนุช 1)ไปทางทิศเหนือจรดที่ดินของจำเลยทั้งสองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5572 ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันนั้น ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 ออกมีโฉนดเลขที่ 157013ถึง 157018 รวม 6 โฉนด ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.10ที่ดินที่เหลือจากการแบ่งแยกของที่ดินโฉนดเลขที่ 5572 ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตั้งโรงงานประกอบกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศโดยมีจำเลยที่ 2เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 โรงงานและสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 5572 จำเลยทั้งสองใช้ทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8584 กว้างประมาณ 7 เมตรยาวประมาณ 50 เมตร เป็นเส้นทางเข้าออกระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 กับที่ดินของจำเลยทั้งสอง เส้นทางภารจำยอมดังกล่าวด้านทิศตะวันตกกว้างประมาณ 1 เมตรยาวตลอดแนวจรดที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นที่ดินพิพาทมีเสาไฟฟ้าแรงสูง 2 ต้น ปักอยู่ตั้งแต่ปี 2522 ส่วนเสาไฟฟ้าธรรมดาอีก 4 ต้น ที่ปักอยู่ในที่ดินพิพาทมีมาก่อนปักเสาไฟฟ้าแรงสูง ระหว่างที่ดินของจำเลยทั้งสองกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8584 จากแนวด้านทิศตะวันตกวัดได้ 81เซนติเมตร ตามภาพถ่ายหมาย จ.14 (ภาพที่ 7, 8 และ 9)จำเลยปลูกต้นชบาขนาดพุ่มกว้างประมาณ 1.80 เมตรยาวประมาณ 20 เมตร ตามภาพถ่ายหมาย จ.14 (ภาพที่ 10,11 และ 12) ภารจำยอมซึ่งเป็นที่ดินพิพาทปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.14 (ภาพที่ 16, 17 และ 18)
คดีมีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ภารจำยอมตามแนวเขตภายในเส้นสีแดงแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทนานสิบปีขึ้นไป หรือภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์หรือไม่โจทก์ฎีกาว่าถนนที่จำเลยทั้งสองและพนักงานประมาณ 300 คนใช้เข้าออกระหว่างถนนสาธารณะกับที่ดินของจำเลยทั้งสองคือที่ดินเฉพาะส่วนที่มีการโรยกรวดหินไม่มีกิ่งไม้รุกล้ำตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.14 ซึ่งมีความกว้างประมาณ 4.70 เมตรส่วนที่ดินภารจำยอมด้านทิศตะวันตกซึ่งมีเสาไฟฟ้าปักอยู่ไม่มีการโรยกรวดและมีหญ้ากับต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่นั้นเป็นที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสองและพนักงานไม่ได้ใช้สัญจรไปมานานกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ตั้งโรงงานเมื่อปี2521 และไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนที่โจทก์ขอยกเลิกภารจำยอมแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางรถยนต์หรือเป็นทางเดินเข้าออกจำเลยทั้งสองจะต้องนำกรวดหินมาโรยที่ดินในส่วนนี้ด้วยและต้องไม่นำต้นไม้มาปลูกลงในที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้ในการปรับปรุงผิวถนนในที่ดินภารจำยอมจำเลยทั้งสองเพียงแต่นำกรวดหินมาโรยมีความกว้างประมาณ 4.70 เมตร ทุกครั้งตั้งแต่จำเลยทั้งสองประกอบกิจการโรงงานและการที่จำเลยทั้งสองนำต้นไม้มาปลูก ถือว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้และไม่มีเจตนาที่จะใช้ที่ดินภารยทรัพย์ในส่วนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบันทึกข้อตกลงภารจำยอมเรื่องทางเดินมิได้ระบุแนวเขตเส้นทางภารจำยอมไว้ ภารจำยอมดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงประโยชน์ในการใช้ภารจำยอมในทุกส่วนของที่ดิน เมื่อพิจารณาเส้นทางภารจำยอมที่จำเลยทั้งสองใช้ออกสู่ทางสาธารณะซอยสุขุมวิท 77(ซอยอ่อนนุช 1) ซึ่งมีความกว้างประมาณ 7 เมตร ตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย จ.13 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.14(ภาพที่ 16, 17 และ 18) แล้ว จะเห็นได้ว่าภารจำยอมที่โจทก์ขอให้ยกเลิกและพ้นภารจำยอมคืนแนวเส้นสีแดงกว้างประมาณ81 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 77(ซอยอ่อนนุช 1) จรดที่ดินของจำเลยทั้งสองมีการติดตั้งเสาและสายไฟฟ้าในที่ดินภารจำยอมตลอดแนว เหตุที่มีการติดตั้งเสาและสายไฟฟ้าดังกล่าวก็เพื่อจะนำไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานของจำเลยที่ 1 ในการติดตั้งเสาและสายไฟฟ้าแรงสูง 2 ต้นของการไฟฟ้านครหลวงตามที่ระบุไว้มีใจความสำคัญว่าเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้อนุญาตให้การไฟฟ้านครหลวงปักเสาพาดสายไฟฟ้าพร้อมทั้งแสดงบันทึกข้อตกลงภารจำยอมเรื่องทางเดินทั้งแปลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 8584และ 5572 ตามเอกสารหมาย จ.16 ทั้งยังได้ความต่อไปว่าก่อนหน้านั้นได้ติดตั้งเสาไฟฟ้า 4 ต้น ในที่ดินดังกล่าวนอกจากติดตั้งเสาและสายไฟฟ้าแล้วยังได้วางท่อประปาในที่ดินภารจำยอมที่พิพาทอีกด้วย ซึ่งบิดาโจทก์ก็รับว่าใช้สายไฟฟ้าและท่อประปานี้ร่วมกับจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองยังคงใช้ที่ดินภารจำยอมส่วนนี้ สำหรับที่ดินภารจำยอมในส่วนที่มีหญ้าและต้นไม้ขึ้นปกคลุม แม้จำเลยทั้งสองไม่อาจใช้เป็นทางเดินตามปกติแต่ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับที่ดินที่โรยกรวดหินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางเดิน และส่วนที่ติดตั้งเสาและสายไฟฟ้ากับวางท่อประปาไว้ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยทั้งสองและพนักงานประมาณ 300 คน ตลอดจนใช้ยานพาหนะเข้าออกเส้นทางภารจำยอมดังกล่าวเป็นเวลาช้านานจนปัจจุบันโดยไม่ได้ละทิ้งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองสละสิทธิไม่ได้ใช้ภารจำยอมในส่วนนั้นเช่นเดียวกัน ภารจำยอมตามแนวเขตภายในเส้นสีแดงซึ่งเป็นที่ดินพิพาทยังคงเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินจำเลยทั้งสองและยังไม่หมดประโยชน์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองนำต้นไม้มาปลูกเป็นการผิดข้อตกลงภารจำยอมตามบันทึกหมาย จ.12 นั้น เห็นว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share