แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ช้ากว่าวันเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อ ซึ่งจะต้องถูกปรับตามสัญญาข้อ 10 รวมเป็นเงิน ค่าปรับทั้งสิ้น 268,056 บาท มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคท้ายที่บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้” นั้น หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องทราบว่ามีการผิดสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญาหรือใบสั่งซื้อแล้วยังยินยอมที่จะรับเอายางแอสฟัลต์นั้นไว้โดยไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิ โจทก์จึงจะหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเอกสารให้เห็นเป็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่ง ยางแอสฟัลต์ ให้แก่โจทก์ตามกำหนด กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยอมรับชำระหนี้โดยไม่ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับ ตามสัญญาได้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5กระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นคดีต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อเท็จจริงแล้ว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิฎีกา ต่อมา แม้ศาลชั้นต้น จะรับฎีกาข้อเท็จจริงมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งของล่าช้า แต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของล่าช้าในทันทีตามหน้าที่ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์ แม้จะไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องการส่งของล่าช้าหรือมีหน้าที่ในการบอก สงวนสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์ซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องตรวจรับยางแอสฟัลต์ให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายทุกประการ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จะต้องบันทึกแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออย่างน้อยก็จะต้อง บันทึกแจ้งเหตุไว้ให้ปรากฏเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบจะได้บอกสงวนสิทธิในการที่จะเรียกค่าปรับ จากจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่ได้บันทึก แจ้งเหตุไว้จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้นถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมา ในฟ้องแล้ว หาใช่เป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการกองการบัญชีและการเงินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 5 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังส่งยางแอสฟัลต์ไม่ครบได้แจ้งกองการพัสดุให้ระงับการคืนหลักประกันของจำเลยที่ 1 ไว้ก่อน จำเลยที่ 5 จึงชอบที่จะระงับหรือชะลอการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไว้ก่อน การที่จำเลยที่ 5 ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไป ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว หาใช่เป็นผลที่ไกลเกินกว่าเหตุ หรือมิใช่เป็นผลโดยตรงไม่ และจำเลยที่ 5 ก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการนัดจ่ายเงินเหลือปีงบประมาณ จะต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกานั้นเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 แต่เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วม คนหนึ่งได้นำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้วจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่จำต้องวางเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการใช้สิทธิยื่นฎีกานี้อีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงไม่ถูกต้อง สมควรสั่งให้คืนเงิน ค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายยางแอสฟัลต์ชนิดบรรจุภาชนะเป็นบัลค์ แบบราคาคงที่ ไม่จำกัดปริมาณตามรายการและราคาต่อหน่วยที่ตกลงกันตามจำนวนที่โจทก์จะสั่งซื้อเป็นคราว ๆ มีกำหนดนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2526 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2526เป็นเงินประมาณ 1,469,640 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ตามปริมาณ สถานที่ วัน และเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อหากผิดข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ไม่ได้รับมอบ นับถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบตามใบสั่งซื้อจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้นำสิ่งของส่งมอบแก่โจทก์จนถูกต้องครบถ้วน โจทก์ได้ออกใบสั่งซื้อให้จำเลยที่ 1ส่งมอบของตามสถานที่และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละฉบับรวม 6 ฉบับแต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ล่าช้ากว่าวันเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 268,056 บาท แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้ถูกปรับจำเลยที่ 1 ได้ลงวันเดือนปีในต้นฉบับใบส่งของย้อนหลังถึงวันเวลาที่อยู่ในกำหนดเวลาในสัญญา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ และโจทก์แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับสิ่งของได้ทำการตรวจรับสิ่งของเหล่านั้นไว้โดยทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งของล่าช้า แต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของล่าช้าในทันทีตามหน้าที่ ทั้งมิได้บอกสงวนสิทธิเรียกเอาค่าปรับโดยรู้เห็นเป็นใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 ลงวันเดือนปีในต้นฉบับใบส่งของย้อนหลังเพื่อมิให้ถูกปรับตามสัญญา จำเลยที่ 5 ซึ่งก็เป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์เช่นกันทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ส่งของตามใบสั่งซื้อฉบับที่ 2 และที่ 5 ล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา แต่ก็จงใจหรือประมาทเลินเล่ออนุมัติเบิกจ่ายค่าซื้อสิ่งของตามใบสั่งซื้อจำนวน2 ฉบับดังกล่าว และมิได้หักเงินค่าปรับจำนวน 217,719.20 บาท ไว้โจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จึงได้ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 268,056 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 145,746 บาทโดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 217,219.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 116,583 บาท และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 268,056 บาท โดยจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในต้นเงินจำนวน 217,219.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายยางแอสฟัลต์กับโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าให้โจทก์ตามที่โจทก์สั่งซื้อเป็นคราว ๆ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของโจทก์ตามจำนวนและวันเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อครบถ้วนถูกต้องแล้วภายในกำหนดเวลาไม่มีการลงวันที่ย้อนหลัง หากมีการส่งล่าช้าโจทก์ก็ไม่ได้สงวนสิทธิที่จะปรับจึงไม่มีสิทธิปรับ หากจำเลยที่ 1ต้องรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 ได้เกินกว่าหลักประกันที่วางไว้ เงินค่าปรับโจทก์คิดตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน2526 จนถึงวันฟ้อง ก็เป็นการคิดค่าปรับเกินกว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันควรหรือทันทีที่ครบกำหนด แสดงว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิปรับจำเลย และไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 เรียกค่าเสียหาย และคิดดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์คนละ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 413,860 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 268,056 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดเพียง 333,802.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 217,219.20 บาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 5,000 บาท
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 3 โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ช้ากว่าวันเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อ ซึ่งจะต้องถูกปรับตามสัญญาข้อ 10 รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 268,056 บาท ตามสัญญามิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ว่าโจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคท้ายบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้” ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โดยอธิบดีกรมทางหลวงจะต้องทราบว่ามีการผิดสัญญาโดยจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญาหรือใบสั่งซื้อแล้วยังยินยอมที่จะรับเอายางแอสฟัลต์นั้นไว้โดยไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิโจทก์จึงจะหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1ได้แก้ไขเอกสารให้เห็นเป็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งยางแอลฟัลต์ให้แก่โจทก์ตามกำหนดกรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยอมรับชำระหนี้โดยไม่ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับตามที่จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 5 ฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับตามสัญญา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5กระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นคดีต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อเท็จจริงแล้วดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อเท็จจริงมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาเฉพาะตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5กระทำอันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ และตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 5 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 ไม่เป็นผลโดยตรงหรือไกลกว่าเหตุที่จะต้องให้รับผิดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งของล่าช้าแต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของล่าช้าในทันทีตามหน้าที่ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์แม้จะไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องการส่งของล่าช้าหรือมีหน้าที่ในการบอกสงวนสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์ซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องตรวจรับยางแอสฟัลต์ให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายทุกประการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องบันทึกแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออย่างน้อยก็จะต้องบันทึกแจ้งเหตุไว้ในปรากฏเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบจะได้บอกสงวนสิทธิในการที่จะเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่ได้บันทึกแจ้งเหตุไว้จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้นไม่ถึงกับเป็นเรื่อง นอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องส่วนจำเลยที่ 5 นั้นเมื่อทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังส่งยางแอสฟัลต์ไม่ครบได้แจ้งกองการพัสดุให้ระงับการคืนหลักประกันของจำเลยที่ 1 ไว้ก่อน จำเลยที่ 5 ชอบที่จะระงับหรือชะลอการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไว้ก่อน ข้ออ้างของจำเลยที่ 5ว่าเป็นการเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณจะต้องจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ก่อนนั้นก็ขัดต่อเหตุผลการที่จำเลยที่ 5 ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อ จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว หาใช่ไม่เป็นไปโดยตรงหรือไกลเกินกว่าเหตุตามที่จำเลยที่ 5 ฎีกาแต่อย่างใด ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
อนึ่ง เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกานั้นเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 เนื่องจากมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้วจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่จำต้องวางเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการใช้สิทธิยื่นฎีกานี้อีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรให้คืนเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
พิพากษายืน คืนเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์เฉพาะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5