คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2250/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนควบคุมผู้ต้องหาที่ถูกจังไว้ได้มีกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้ดำเนินคดีล่าช้าและผู้ต้องหาอาจถูกควบคุมไว้นายเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้ผู้ร้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และสอบคำให้การผู้ต้องหาไว้แล้ว อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องจับผู้ต้องหาแล้ว ผู้ร้องจึงต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องผู้ต้องหาภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง หากไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้อง ต้องขอผัดฟ้องต่อศาล เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนด การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผัดฟ้องจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 ขอผัดฟ้องอ้างว่าผู้ต้องหาหลอกลวง นางวรรณพร ผู้เสียหายว่าจะจัดหานายทุนมาซื้อโรงแรมของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายและค่ารับรองรวมเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้ต้องหาไป ต่อมาผู้เสียหายเห็นว่าตนเองถูกฉ้อโกงได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไป เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 ผู้ต้องหาถูกจับในคดีอื่น ผู้ร้องจึงขออายัดตัวไว้ดำเนินคดีนี้ และเมื่อวันที่ 26 เดือนเดียวกัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องจึงรับตัวมาดำเนินคดีนี้ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ จึงไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ภายใน 48 ชั่วโมง ขอผัดฟ้องมีกำหนด 6 วัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหาถูกจับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2540 การที่พนักงานสอบสวนยื่นขอผัดฟ้องวันนี้ (วันที่ 28 มิถุนายน 2540) เป็นการขอผัดฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนควบคุมผู้ต้องหาที่ถูกจับไว้ได้มีกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้ดำเนินคดีล่าช้าและผู้ต้องหาอาจถูกควบคุมไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกการแจ้งข้อหาบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาและสอบคำให้การผู้ต้องหาไว้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องจับผู้ต้องหาแล้ว ผู้ร้องจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องผู้ต้องหาภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้องต้องขอผัดฟ้องต่อศาล เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนด และที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ผัดฟ้องเพราะเห็นว่าการขอผัดฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share