คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดที่จะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรคแรก ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และ ความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อความเสียหายของสะพานลอยคนข้าม ที่ถูกรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับชนเป็นรอยโก่ง ขึ้นเท่านั้น และเอกสารเสนอราคาค่าซ่อมแซมสะพานที่มีราคาสูงถึง 364,800 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ารถยกตัวสะพานลง และขึ้นและค่าไม้สำหรับทำนั่งร้านรองรับตัวสะพาน ส่วนค่าซ่อมตัวสะพานจุดที่จะต้องตัดต่อและเปลี่ยน เหล็กโครงสร้างใหม่เป็นเงินเพียง 56,560 บาท แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ก็ไม่ได้ทำการซ่อมแซมสะพานดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ได้ปรับปรุงขยายถนนบริเวณดังกล่าวเป็น 10 ช่องจราจรจึงได้รื้อถอนสะพานออกไป การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ให้โจทก์ 70,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 456,306 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 364,800 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สะพานลอยคนข้ามถนนที่ได้รับความเสียหายนั้น มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ค่าเสียหายไม่เกิน 100,000 บาท และโจทก์มีส่วนประมาทด้วยฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สะพานลอยคนข้ามถนนที่ได้รับความเสียหายนั้น มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายของสะพานลอยคนข้ามดังกล่าวไม่เกิน 60,000 บาท ทั้งหากจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ก็รับผิดไม่เกิน 100,000 บาทตามกรมธรรม์ประกันภัยและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2532จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สะพานลอยคนข้ามถนนที่ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับไปทำละเมิดรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่เกิน 100,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่าสมควรให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด โจทก์มีนายปรีชา ศรีดามาผู้จัดการบริษัทโภคทวีก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาค่าซ่อมแซมสะพานที่ได้รับความเสียหายมาเบิกความเป็นพยานว่าได้ไปตรวจสอบสะพานลอยคนเดินข้ามถนนที่ถูกรถยนต์ชนหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนพหลโยธิน ปรากฏว่ามีรอยรถยนต์ชนห่างจากตอม่อฝั่งที่จะออกจากกรุงเทพไปรังสิตประมาณ 5 เมตรเป็นรอยโด่ง ขึ้น สะพานนี้เป็นสะพานเหล็กแต่ตอม่อเป็นปูนหูช้างที่รองรับตัวสะพานแตกร้าว นอกจากนี้ไม่มีที่อื่นเสียหายพยานได้จัดทำเอกสารเสนอราคาตามเอกสารหมาย ปจ.6 ไว้เป็นเงิน364,800 บาท เหตุที่ตีราคาแพงเพราะว่าจะซ่อมแซมให้อย่างดีโดยต้องทำการยกลงมาทำการซ่อมข้างล่าง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงยกขึ้นไปติดตั้ง ต้องบวกค่ารถยกเข้าไปด้วย มีรายการค่ารถเทลเลอร์ และค่านั่งร้านเพื่อรับทำสะพานแล้วต้องเทหล่อตอม่อใหม่เพราะของเดิมร้าวจึงแพงกว่าปกติ และมีนายอรุณ เดี่ยวพาณิชนายช่างแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวงเบิกความว่าโจทก์ไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซมสะพานลอยที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้ขยายปรับปรุงถนนพหลโยธินจากเดิมเป็นถนน 4 ช่องจราจร เป็นถนน 10 ช่องจราจร สะพานลอยดังกล่าวไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ขณะนี้รื้อถอนไปแล้ว และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการซ่อมแซมทรัพย์สินตามระเบียบของทางราชการจะมีการให้คณะกรรมการราคากลางเป็นผู้กำหนดราคาก่อนแต่สะพานดังกล่าวเนื่องจากมีโครงการจะรื้อถอนอยู่แล้วจึงเรียกผู้รับเหมามาสอบถามราคาเพียงรายเดียว ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว เห็นว่าในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคแรกบัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดสำหรับคดีนี้ศาลได้พิจารณาภาพถ่ายความเสียหายของสะพานลอยคนข้ามหมาย ป.ล.1 แล้วเห็นว่า สะพานที่ถูกรถยนต์ชนเป็นรอยโก่งขึ้นเท่านั้น และเอกสารเสนอราคาค่าซ่อมแซมหมาย ป.จ.6ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ ตามรายการค่าซ่อมแซมสะพานที่มีราคาสูงถึง 364,800 บาท นั้น ส่วนใหญ่เป็นค่ารถยกตัวสะพานลงและขึ้นและค่าไม้สำหรับทำนั่งร้านรองรับตัวสะพานส่วนค่าซ่อมตัวสะพานจุดที่จะต้องตัดต่อและเปลี่ยนเหล็กโครงสร้างใหม่เป็นเงินเพียง 56,460 บาท แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ก็ไม่ได้ทำการซ่อมแซมสะพานดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ได้ปรับปรุงขยายถนนบริเวณดังกล่าวเป็น 10 ช่องจราจร จึงได้รื้อถอนสะพานออกไป ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 70,000 บาทเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share