คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความ 1 ปี เกี่ยวกับการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้ต้องเสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดแต่คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด หากแต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการให้โจทก์โดยปราศจากข้ออ้างตามกฎหมายโจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้เพราะสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินของรัฐรัฐย่อมไม่มีอำนาจนำไปจัดตั้งเป็นนิคมตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6หรือให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จำเลยที่ 5 มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สำหรับบำรุงส่งเสริมกิจกรรมและการจัดทำสิ่งก่อสร้างอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมของนิคมตามมาตรา 14 ได้การที่เจ้าพนักงานที่ดินจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่สามารถดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้เพราะจะต้อง กันแนวเขตชานคลองสหกรณ์หรือคลองลัดแสมดำจากกึ่งกลางคลอง เป็นรัศมี 40 เมตร ตามข้อคัดค้านของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน บทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 วรรคหนึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจพนักงานเจ้าหน้าที่หรือจำเลยที่ 1ที่จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบหรือไม่ก็ได้มิได้บังคับว่าจำเลยที่ 1 จะต้องทำการสอบสวนเปรียบเทียบทุกกรณีบทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีกฎหมายให้ฝ่ายบริหารวินิจฉัย ข้อพิพาทก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการสอบสวน เปรียบเทียบแล้วโจทก์ไม่ยินยอมให้สอบสวนเปรียบเทียบทั้งการที่ไม่มีการเปรียบเทียบก็เป็นการใช้ดุลพินิจไม่เปรียบเทียบของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล โดยตรงได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ในเขต หวงห้ามตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2481แม้โจทก์จะมี น.ส.3 แต่โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนการสงวนหวงห้ามและไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 14และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ แม้จำเลยที่ 5ให้การต่อสู้ไว้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 5จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่จัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์บ้านไร่ มีจำเลยที่ 5 และที่ 6เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2525 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 120ต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอรับโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6แจ้งให้กันแนวเขตชานคลองสหกรณ์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกเป็นระยะ 1 เส้น โดยวัดจากกึ่งกลางคลองขยายรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 จึงไม่ทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดินเดิมของโจทก์โจทก์ยื่นหนังสือร้องทุกข์คัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 4 ถึงที่ 6 และขอขยายเวลารังวัดออกโฉนดที่ดินออกไปแต่จำเลยที่ 5 ไม่พิจารณาหนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ตามกฎหมายกลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการกันแนวเขตชานคลองอีกจำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่าการกันแนวเขตชานคลองโดยโจทก์ไม่ยินยอมจะกระทำไม่ได้ แต่มิได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 รังวัดที่ดินให้โจทก์ โจทก์ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3มิได้ดำเนินการอย่างใดเช่นกัน ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2536โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรังวัดที่ดินให้โจทก์ต่อไปโดยแสดงหนังสือของจำเลยที่ 4 ซึ่งระบุว่าที่ดินของโจทก์ไม่อยู่ในข่ายดำเนินการของจำเลยที่ 4 ไม่มีกรณีขัดข้องแต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้โจทก์กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 4 ทำหนังสือยืนยันการกันแนวเขตชานคลองอีก การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 รังวัดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์เต็มเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 120 ห้ามมิให้จำเลยที่ 4ถึงที่ 6 ขัดขวางการนำรังวัดของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ เพราะโจทก์และจำเลยที่ 4 มีปัญหาโต้แย้งกันในเรื่องการกันแนวเขตชานคลองสหกรณ์ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ไปตามระเบียบและกฎหมาย โจทก์รีบนำคดีมาฟ้องโดยไม่รอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์การออกโฉนดที่ดินไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่จำเลยที่ 2มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำตามหลักการบริหารราชการและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายแต่เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในสังกัดของจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินพ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511มาตรา 14, 17 จำเลยที่ 5 มีอำนาจที่จะปฏิบัติการในที่ดินภายในเขตนิคม และมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสมาชิกนิคม การกันแนวเขตชานคลองข้างละ 40 เมตรนับจากกึ่งกลางคลองเป็นการกระทำเพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมและการมีน้ำใช้เพื่อการคมนาคม จำเลยที่ 6 ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 120 ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่ให้กันแนวเขตชานคลองเข้ามาในที่ดินของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2525 โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสมพร มาดียื่นคำขอรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 120 ต่อจำเลยที่ 1 หลังจากรังวัดแล้วจำเลยที่ 1 แจ้งแก่โจทก์ว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 4 แจ้งว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตนิคมของจำเลยที่ 4 ซึ่งจะต้องกันแนวเขตชานคลองกว้าง40 เมตร จากกลางคลองสหกรณ์หรือคลองลัดแสมดำยาวตลอดแนวคลองล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทตามนโยบายของทางราชการโจทก์ไม่ยินยอมและได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลารังวัดออกไปต่อมาประมาณกลางปี 2535 โจทก์นำหนังสือของจำเลยที่ 4ที่ยินยอมให้โจทก์นำรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดินพิพาทได้มายื่นต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการรังวัดเพื่อทำแผนที่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ คงขอให้จำเลยที่ 4 ยืนยันการกันแนวเขตชานคลอง 40 เมตร ตามเดิม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า อายุความ 1 ปี เกี่ยวกับการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้ต้องเสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดแต่คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดหากแต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการให้โจทก์โดยปราศจากข้ออ้างตามกฎหมาย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่าเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวอ้างในการปฏิเสธไม่ยอมรังวัดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า แม้จะได้ความจากจำเลยที่ 1 และนางสาวช่อทิพย์ มูลสินธุ์ หัวหน้านิคมสหกรณ์บ้านไร่พยานจำเลยว่า ที่ดินพิพาทอยู่ภายในเขตของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ก็ตามแต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ซึ่งยังไม่ถูกยกเลิกเพิกถอนหรือถูกจำเลยที่ 4 ขอกันเป็นแนวเขตชานคลองมาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอรังวัดที่ดินพิพาท ประกอบกับนางสาวช่อทิพย์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนและโจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของนิคม จึงเชื่อได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินของรัฐ ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจนำไปจัดตั้งเป็นนิคมตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6หรือให้จำเลยที่ 5 มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สำหรับบำรุงส่งเสริมกิจกรรมและการจัดทำสิ่งก่อสร้างอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมของนิคมตามมาตรา 14 ได้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่สามารถดำเนินการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้เพราะจะต้องกันแนวเขตชานคลองสหกรณ์หรือคลองลัดแสมดำจากกึ่งกลางคลองเป็นรัศมี40 เมตร ตามข้อคัดค้านของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการออกโฉนดที่ดินพิพาทยังมีกรณีโต้แย้งสิทธิกันเกี่ยวกับแนวเขตชานคลองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 บัญญัติให้จำเลยที่ 1 ทำการสอบสวนเปรียบเทียบก่อนถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีกฎหมายให้ฝ่ายบริหารวินิจฉัยข้อพิพาทก่อน แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ผ่านกระบวนการวินิจฉัยของฝ่ายบริหารดังกล่าวโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า บทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ระบุว่า”ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดิน แล้วแต่กรณีมีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบ” ซึ่งเป็นการให้ดุลพินิจพนักงานเจ้าหน้าที่หรือจำเลยที่ 1 ที่จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบหรือไม่ก็ได้ มิได้บังคับว่าจำเลยที่ 1 ที่จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบทุกกรณี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีกฎหมายให้ฝ่ายบริหารวินิจฉัยข้อพิพาทก่อน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วโจทก์ไม่ยินยอมให้สอบสวนเปรียบเทียบแต่อย่างใด การที่ไม่มีการเปรียบเทียบน่าจะเป็นการใช้ดุลพินิจไม่เปรียบเทียบของจำเลยที่ 1 มากกว่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยตรงได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ข้ออ้างในการปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นข้ออ้างที่ปราศจากกฎหมายสนับสนุนและให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไปนั้น ชอบแล้ว
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการสุดท้ายที่ว่า ที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ในเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2481 แม้โจทก์จะมี น.ส.3 แต่โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนการสงวนหวงห้ามและไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 14 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ แม้จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ไว้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share