แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานว่าเหตุทำร้ายร่างกายที่ทำให้ ส. ลูกจ้างจำเลยได้รับบาดเจ็บกระดูกใบหน้าด้านขวาและกระดูกข้อเท้าซ้ายแตกได้เกิดขึ้นขณะที่โจทก์และ ส. เดินออกจากบริษัทจำเลยห่างจากรั้วและป้อมพนักงานรักษาความปลอดภัยประมาณ 5 เมตรซึ่งอยู่นอกบริเวณบริษัทจำกัด ดังนี้ การที่ศาลแรงงานกลับวินิจฉัยว่า โจทก์ทำร้ายร่างกาย ส. จนได้รับอันตรายสาหัสภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งขัดกับคำรับของคู่ความดังกล่าว จึงเป็นการมิชอบ หนังสือเลิกจ้างและคำให้การจำเลยระบุว่า เหตุเกิดขณะส. จะเดินไปขึ้นรถรับส่งพนักงานที่จำเลยจัดไว้ให้และโจทก์ทำร้ายร่างกาย ส. ในสถานที่ที่จำเลยรับผิดชอบอยู่มิใช่ภายในบริเวณบริษัทจำเลย การที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริง ว่าเหตุเกิดภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือเลิกจ้างและคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน เมื่อศาลฎีกาไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่มีความผิด กรณีทำร้ายร่างกาย ส. โจทก์จะมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องหรือไม่ซึ่งเป็นกรณีข้อเท็จจริงได้มาจากการที่ศาลแรงงานรับฟังมาโดยมิชอบและไม่พอแก่การวินิจฉัย โดยที่ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเองได้ ศาลฎีกาจึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่อง สถานที่เกิดเหตุว่าเกิดเหตุ ณ ที่ใด และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือไม่ เสียใหม่ให้ถูกต้อง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,56 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบและวินัยอย่างร้ายแรงกรณีประทุษร้ายร่างกายนายสถาพร เอกวงษ์ เพื่อนพนักงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 68,951 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,492 บาท และค่าเสียหายจำนวน 184,828.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบวินัยของจำเลยข้อ 1.4 อย่างร้ายแรง เนื่องจากโจทก์ได้ประทุษร้ายร่างกายนายสถาพร เอกวงษ์ พนักงานจำเลยในสถานที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยขณะเดินไปขึ้นรถรับส่งพนักงานที่จำเลยจัดให้จนได้รับบาดเจ็บกระดูกใบหน้าด้านขวาและกระดูกข้อเท้าซ้ายแตก ต้องผ่าตัดใส่เหล็ก ใช้เวลารักษาพยาบาล 60 วันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์และนายสถาพร เอกวงษ์เป็นพนักงานของจำเลยด้วยกันได้เดินออกจากบริษัทจำเลยห่างจากรั้วและป้อมพนักงานรักษาความปลอดภัย 5 เมตร เกิดเหตุทำร้ายร่างกายนายสถาพรเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บกระดูกใบหน้าขวาและกระดูกข้อเท้าซ้ายแตกได้รับอันตรายสาหัสโดยโจทก์เป็นคนทำร้ายแต่ในตอนต่อมากลับฟังว่ามีการทำร้ายกันภายในบริเวณบริษัทจำเลยเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวด 6 ข้อ 1.4 ซึ่งมีโทษเลิกจ้าง ทั้งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามหมวด 7 ข้อ 2.1.3 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ทำร้ายร่างกายนายสถาพร เอกวงษ์ ไม่เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวด 6 ข้อ 1.4 เพราะตามวันเวลาเกิดเหตุ โจทก์มิได้อยู่ในที่ทำงานหรือบริษัทของจำเลย แต่อยู่หน้าบริษัทจำเลยซึ่งเป็นถนนสาธารณะ ในวันเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของจำเลยโดยโจทก์ลาหยุดและได้รับการอนุมัติให้ลาแล้วทั้งลักษณะบาดแผลของนายสถาพรยังไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายสาหัสนั้นเห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวกำหนดไว้ชัดว่าการที่ลูกจ้างประทุษร้ายหรือทะเลาะวิวาทกับลูกจ้างอื่นของจำเลยนอกบริเวณที่ทำงานก็อาจมีความผิดทางวินัยได้ถ้าสถานที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 10 ตุลาคม 2540 คู่ความยอมรับข้อเท็จจริงว่าเกิดเหตุทำร้ายร่างกายทำให้นายสถาพร เอกวงษ์ ลูกจ้างจำเลยได้รับบาดเจ็บกระดูกใบหน้าด้านขวาและกระดูกข้อเท้าซ้ายแตกเหตุเกิดขึ้นขณะที่โจทก์และนายสถาพร เดินออกจากบริษัทจำเลยห่างจากรั้วและป้อมพนักงานรักษาความปลอดภัยประมาณ 5 เมตรซึ่งอยู่นอกบริเวณบริษัทจำเลย แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนายสถาพรจนได้รับอันตรายสาหัสภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งขัดกับคำรับของคู่ความดังกล่าวเป็นการมิชอบอีกทั้งตามคำให้การจำเลยและหนังสือเลิกจ้างของจำเลยก็ระบุว่าเหตุเกิดขณะนายสถาพรจะเดินไปขึ้นรถรับส่งพนักงานที่จำเลยจัดไว้ให้สำเนาหนังสือเลิกจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก็ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนายสถาพรในสถานที่ที่จำเลยรับผิดชอบอยู่มิใช่ภายในบริเวณบริษัทจำเลย แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดภายในบริเวณบริษัทจำเลย ซึ่งไม่ตรงกับคำให้การและหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นการไม่ชอบเช่นกันทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางดังกล่าว บริเวณที่โจทก์ทำร้ายร่างกายนายสถาพรจะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้สอบข้อเท็จจริงจากคู่ความหรือรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนไว้ ศาลฎีกาจึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีความผิดกรณีทำร้ายร่างกายนายสถาพรจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีข้อเท็จจริงได้มาจากการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาโดยมิชอบและไม่พอแก่การวินิจฉัย โดยที่ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียเองได้ จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อ 1 เรื่องสถานที่เกิดเหตุว่าเกิดเหตุ ณ ที่ใด และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือไม่เสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 56 วรรคสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี