คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุ โรงแรมจำเลยกำลังมีงานจัดเลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยดื่มสุรามึนเมาภายในบริเวณโรงแรมเมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วสามชั่วโมง แต่โจทก์ยังอยู่ในชุดทำงานและมิได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน โจทก์ล้มนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกแสดงสินค้าของลูกค้าโรงแรมจำเลยแตกเสียหาย ดังนี้ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่า ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทฯ และมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้เนื่องจากเสพเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ดื่มเครื่องดองของเมาหรือมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะทำงานหรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องมึนเมาสุราหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานแล้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อนี้ ส่วนการที่โจทก์ดื่มสุราจนเมาล้มลงเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยแตกเสียหายนั้น เมื่อไม่ใช่เรื่องโจทก์เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของจำเลยแม้จะมีการจัดเลี้ยงอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลย แต่บริเวณที่โจทก์เมาสุรา และล้มลงเท้าถีบตู้กระจกลูกค้าจำเลยแตกนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นบริเวณที่จัดเลี้ยง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุ ความผิดประเภทที่ว่า”เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของบริษัท”การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภทนี้เช่นเดียวกัน สำหรับความผิดประเภท ข ที่ระบุว่า “อยู่ภายในบริเวณบริษัทฯ หลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทฯ ขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือในขณะที่ลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควร พนักงานทุกคนต้องออกจากบริเวณบริษัทฯ ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากที่พ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว (พนักงานระดับบริหารและหัวหน้าแผนกต่าง ๆถือว่าปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อยู่ในบริเวณบริษัทฯ)”เมื่อการกระทำผิดในข้อนี้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษสำหรับความผิดประเภทนี้ไว้ถึง 3 ขั้น คือ ความผิดครั้งที่หนึ่ง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ความผิดครั้งที่สอง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สาม ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอาจเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)การที่โจทก์ซึ่งมิใช่พนักงานระดับบริหารหรือหัวหน้าแผนกเลิกงานแล้ว แต่ยังอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยโดยมิได้ออกไป ภายในครึ่งชั่วโมงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขัดคำสั่ง จำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ไม่ร้ายแรง เท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจจากคนเดินทางหรือแขกที่มาพักในวันเกิดเหตุโจทก์เลิกงานแล้วยังอยู่ในชุดทำงาน และเมาสุราล้มลงนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยเสียหาย เช่นนี้นับว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทและทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเนื่องจากเสพเครื่องดองของเมา มีเจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียงและความมั่นคงของบริษัทจำเลยอันเป็นความผิดที่ร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยโดยจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ข้อกล่าวอ้างในการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิรับค่าชดเชยเป็นเงิน 87,840 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 เป็นเงิน23,424 บาท การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ทำงานกับจำเลยมา 7 ปีกว่า ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราสุดท้าย 7 เดือน เป็นเงิน 102,480 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 213,744 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ดื่มสุรามีอาการเมาจนไม่สามารถครองสติได้ภายในสถานประกอบการของจำเลย และทำลายทรัพย์สินของลูกค้าของจำเลยโดยใช้เท้าถีบตู้กระจกสินค้าของจำเลยจนแตกได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและกฎหมาย ทั้งเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในความผิดประเภท ง ข้อ 1 และ ข้อ 18 ซึ่งโทษของการกระทำผิดดังกล่าวคือ ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนอกจากนี้การกระทำของโจทก์ยังผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภท ข ข้อ 10 ซึ่งห้ามพนักงานอยู่ภายในบริเวณบริษัทหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในขณะลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรพนักงานทุกคนต้องออกจากบริษัทภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยเป็นโรงแรมระดับหนึ่งของโลกแต่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานจำเลยกลับทำลายชื่อเสียงของโรงแรมด้วยการทำลายทรัพย์สินของลูกค้าของจำเลย จึงจำเป็นต้องปลดโจทก์ออกจากงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุโรงแรมจำเลยกำลังมีงานจัดเลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม โจทก์ดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรมเมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้วสามชั่วโมงแต่ยังอยู่ในชุดทำงานและมิได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน เป็นเหตุให้โจทก์ล้มนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกแสดงสินค้าของลูกค้าโรงแรมจำเลยแตกเสียหาย เห็นว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.1 ความผิดประเภท ง ข้อ 1 ระบุว่า “ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทฯ และมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้เนื่องจากเสพเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอื่น ๆ” ซึ่งหมายความว่า ดื่มเครื่องดองของเมาหรือมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะทำงานหรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องมึนเมาสุราหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานแล้ว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อนี้ ส่วนความผิดประเภท ง ข้อ 18 ที่ว่า “เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของบริษัทฯ” ก็เห็นว่า การที่โจทก์ดื่มสุราจนเมาล้มลงเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยแตกเสียหายนั้น ไม่ใช่เรื่องโจทก์เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของจำเลย แม้จะมีการจัดเลี้ยงอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยแต่บริเวณที่โจทก์เมาสุราและล้มลงเท้าถีบตู้กระจกลูกค้าของจำเลยแตกก็ไม่ปรากฏว่าเป็นบริเวณที่จัดเลี้ยง จึงไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภท ง ข้อ 18เช่นเดียวกัน ส่วนความผิดประเภท ข ข้อ 10 ที่ระบุว่า “อยู่ภายในบริเวณบริษัทฯ หลังจากพันเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทฯ ขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือในขณะที่ลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควร พนักงานทุกคนต้องออกจากบริเวณบริษัทฯ ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากที่พ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว(พนักงานระดับบริหาร และหัวหน้าแผนกต่าง ๆ ถือว่าปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อยู่ในบริเวณบริษัทฯ)” ก็เห็นว่าการกระทำผิดในข้อนี้มิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงที่อาจเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) ทั้งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็กำหนดโทษสำหรับความผิดประเภทนี้ไว้ถึง 3 ขั้น คือความผิดครั้งที่หนึ่ง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรความผิดครั้งที่สอง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สาม ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยดังนั้น ที่โจทก์ซึ่งมิใช่พนักงานระดับบริหารหรือหัวหน้าแผนกเลิกงานแล้ว แต่ยังอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยโดยมิได้ออกไปภายในครึ่งชั่วโมงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขัดคำสั่งจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2532 ตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,640 บาท โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2539 กรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46(3) โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 87,840 บาท
สำหรับความผิดในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นเมื่อได้ความดังวินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ฝาฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้วแม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เช่นนี้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจจากคนเดินทางหรือแขกที่มาพัก ในวันเกิดเหตุโจทก์เลิกงานแล้วยังอยู่ในชุดทำงานและเมาสุราล้มลงนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยเสียหายเช่นนี้นับว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์87,840 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share