คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์เป็นรถยนต์เก่าแต่มีสภาพพอใช้ได้ และจำเลยได้ตรวจดูสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้วและจำเลยได้รับมอบรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นคันเดียวกันกับที่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ กรณีจึงมิใช่เป็นการสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะส่วนการที่จำเลยมาตรวจสอบภายหลังพบว่า หมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการปลอมแปลง ไม่ตรงกับหมายเลขทะเบียนตามใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์คันที่เช่าซื้อเป็นเพียงความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญอันทำให้นิติกรรมการเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157เมื่อจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 762,012 บาท ตกลงชำระ 36 งวด งวดละ 21,167 บาทต่อเดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดแรกเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ต่อไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันทำสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเวลา 62 เดือนเป็นเงิน 558,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 750,000 บาท หากส่งมอบคืนในสภาพชำรุดและโจทก์ขายได้ไม่ครบจำนวน 750,000 บาท ให้ร่วมกันชำระส่วนที่ขาดจนครบให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 558,000 บาท และชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 9,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาจนครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อมีหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังไม่ตรงกับที่ระบุในสัญญาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดในสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 ขอเลิกสัญญาและขอส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระค่าภาษีรถยนต์ ทำให้จำเลยที่ 1ไม่สามารถนำรถยนต์ออกใช้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี ถ้าไม่ส่งมอบคืนให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 420,000 บาท ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนเงิน 310,000 บาท และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่ไม่เกิน 6 เดือน แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนเงิน 236,000 บาทและชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่เห็นว่า ตามปกติวิสัยในการซื้อขายรถยนต์ที่ใช้แล้ว ผู้ซื้อจะต้องขอดูสภาพรถยนต์ก่อนที่จะตกลงซื้อขายกัน ประกอบกับจำเลยที่ 1เบิกความว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นรถยนต์เก่ามีสภาพพอใช้ได้แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจดูสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคันเดียวกันกับที่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 กรณีจึงมิใช่เป็นการสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 มาตรวจสอบภายหลังพบว่า หมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการปลอมแปลง ไม่ตรงกับหมายเลขทะเบียนตามใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นว่าแม้จะฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นเพียงความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญอันทำให้นิติกรรมการเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 157 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแก่โจทก์แต่ประการใด สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังคงใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกแก้ไขหมายเลขประจำตัวถังรถและเครื่องยนต์ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำออกใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา ทั้งโจทก์เองก็มิได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าวไปต่อทะเบียนอีกเลยนับแต่ทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นจึงไม่เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งหมดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share