แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่แจ้งสูญหายไว้ต่อประชาสัมพันธ์ศูนย์การค้ามีเงินสด 2,000 บาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3 รายการโดยไม่มีบัตรโทรศัพท์แต่อย่างใดแต่ทรัพย์สินของกลางที่ค้นได้จากตัวจำเลยมีเพียงเงินสด 5,000 บาท กับบัตรโทรศัพท์และใบมีดโกน เท่านั้น ผู้เสียหายรับว่าเงินสด 5,000 บาทจะใช่ของผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ ส่วนบัตรโทรศัพท์นั้นผู้เสียหายมิได้ทำตำหนิไว้เป็นพิเศษเป็นบัตรโทรศัพท์ที่ประชาชนสามารถหาซื้อโดยทั่วไป เช่นนี้ เงินสดและบัตรโทรศัพท์ของกลางที่ค้นได้จากตัวจำเลยหาได้มีหลักฐานใดที่ยืนยันได้ชัดแจ้งว่าเป็นของผู้เสียหายไม่ แม้ผู้เสียหายอ้างว่าบัตรโทรศัพท์ดังกล่าวผู้เสียหายใช้ไปแล้ว 1 ครั้ง เป็นเงิน 23 บาทยังเหลืออยู่ 77 บาทและเจ้าพนักงานตำรวจนำไปตรวจสอบดูปรากฏว่ามีจำนวนเงินเหลือตรงกันก็ตาม ก็มิอาจเชื่อได้โดยสนิทใจว่าบัตรโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย เพราะในข้อนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยใช้บัตรโทรศัพท์ไป 1 ครั้ง เป็นเงิน 23 บาทเช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเงินสดและบัตรโทรศัพท์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย กรณีมีเหตุควรสงสัยว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดในข้อหารับของโจรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,357, 33 ริบใบมีดโกนของกลางให้จำเลยคืนเงินและบัตรโทรศัพท์ของกลางกับบัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวสมาชิกสมาคมพยาบาลที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี ให้คืนเงินสด 5,000 บาทและบัตรโทรศัพท์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนข้อหาลักทรัพย์คำขอให้ริบใบมีดโกนของกลางและให้จำเลยคืนบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวสมาชิกสมาคมพยาบาล ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักทรัพย์ตามฟ้องของนางสุวรรณ ตังป๊อก ผู้เสียหายไปต่อมาในวันเดียวกันจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับและยึดเงินสด 5,000 บาท กับบัตรโทรศัพท์ 1 ใบ และใบมีดโกน 7 ใบ ได้จากจำเลยเป็นของกลางมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดในข้อหารับของโจรหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายกับร้อยตำรวจเอกมนต์ชัย ศรีประเสริฐ และจ่าสิบตำรวจประพันธ์ พินพงษ์ ว่า หลังจากผู้เสียหายทราบว่ากระเป๋าใส่เงิน เงินสด 5,000 บาท บัตรโทรศัพท์บัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวสมาชิกสมาคมพยาบาลตลอดชีพได้สูญหายไปก็รีบแจ้งให้ประชาสัมพันธ์ของศูนย์การค้ามาบุญครองทราบ จากนั้นไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาในวันเดียวกันนั้นขณะที่ร้อยตำรวจเอกมนต์ชัยและจ่าสิบตำรวจประพันธ์กำลังออกตรวจบริเวณศูนย์การค้ามาบุญครอง พบจำเลยมีพิรุธสงสัยว่าจะเป็นคนร้ายที่คอยล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์สินของผู้อื่นจึงขอตรวจค้น ผลการตรวจพบเงินสด 5,000 บาทกับบัตรโทรศัพท์ 1 ใบ และใบมีดโกน 7 ใบ จากนั้นไปตรวจสอบที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ของศูนย์การค้ามาบุญครอง ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ค้นพบจากจำเลยมีลักษณะตรงกับทรัพย์สินที่ผู้เสียหายได้แจ้งไว้จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้วแจ้งให้ผู้เสียหายมาตรวจสอบดูผู้เสียหายยืนยันว่าเงินสดและบัตรโทรศัพท์เป็นของตนเห็นว่า ข้ออ้างของผู้เสียหายที่ว่าเงินสด 5,000 บาท และบัตรโทรศัพท์เป็นของตนนั้น ไม่ตรงกับทรัพย์สินของผู้เสียหายที่แจ้งไว้ครั้งแรกต่อประชาสัมพันธ์ศูนย์การค้ามาบุญครองตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุไว้ว่าทรัพย์สินของผู้เสียหายที่สูญหายไปมีเงินสด 2,000 บาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3 รายการโดยไม่มีบัตรโทรศัพท์แต่อย่างใด ทั้งทรัพย์สินของกลางที่ค้นได้จากตัวจำเลยก็มีเพียงเงินสด 5,000 บาท กับบัตรโทรศัพท์และใบมีดโกนเท่านั้น ผู้เสียหายเบิกความยอมรับว่า เงินสด5,000 บาท จะใช่ของผู้เสียหายหรือไม่ ผู้เสียหายก็ไม่แน่ใจส่วนบัตรโทรศัพท์นั้นผู้เสียหายมิได้ทำตำหนิไว้เป็นพิเศษเป็นบัตรโทรศัพท์ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป เช่นนี้เงินสดและบัตรโทรศัพท์ของกลางที่ค้นได้จากตัวจำเลยหาได้มีหลักฐานใดที่ยืนยันได้ชัดแจ้งว่าเป็นของผู้เสียหายไม่แม้ผู้เสียหายอ้างว่าบัตรโทรศัพท์ดังกล่าว ผู้เสียหายใช้ไปแล้ว1 ครั้ง เป็นเงิน 23 บาท ยังเหลืออยู่ 77 บาท และจ่าสิบตำรวจประพันธ์นำไปตรวจสอบดูปรากฏว่ามีจำนวนเงินเหลือตรงกันก็ตาม ข้อเท็จจริงมิอาจเชื่อได้โดยสนิทใจว่าบัตรโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย เพราะในข้อนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยใช้บัตรโทรศัพท์ไป 1 ครั้ง เป็นเงิน23 บาท เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า เงินสด และบัตรโทรศัพท์ของกลางเป็นของผู้เสียหายกรณีมีเหตุควรสงสัยว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดในข้อหารับของโจรที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน