คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า วันนี้คู่กรณีทั้งสามฝ่ายได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายกันโดยฝ่าย ช.(จำเลยที่ 1) ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม-3558 ภูเก็ต โดยรับซ่อมให้อยู่ ในสภาพใช้การได้ดีเหมือนเดิม และรับชดใช้ค่าโทรทัศน์สี 14 นิ้วที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ และในวันที่ 31 มกราคม 2537 จะนำเงินมาชำระค่าซ่อมรถยนต์ตู้ล่วงหน้าก่อนจำนวน 30,000 บาทคู่กรณีทั้งสามฝ่ายสามารถตกลงกันได้ จึงได้มอบรถยนต์ให้ต่างฝ่ายต่างรับคืนไปถูกต้องแล้วแต่เวลานี้ ข้อความในบันทึกดังกล่าวแสดงเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายและตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยรับซ่อมรถยนต์ตู้และรับชดใช้ค่าโทรทัศน์เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก และหาได้มีข้อความโดยแจ้งชัดว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียนม-3558 ภูเก็ต จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรม ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกสี่ล้อหมายเลขทะเบียน 9 บ-1448 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทใช้ความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถเสียหลักไปเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วง หมายเลขทะเบียน 80-2105 ตรังที่แล่นสวนทางมา รถยนต์บรรทุกสิบล้มพ่วงต้องแล่นหลบไปชนรถยนต์ตู้ของโจทก์ซึ่งจอดอยู่ที่ไหล่ทาง เป็นเหตุให้รถยนต์ตู้ของโจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 122,335 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 113,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่าภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดอีกทั้งค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงชดใช้กันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จึงไม่อาจเรียกได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 82,775 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้น 77,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุก 4 ล้อ หมายเลขทะเบียน 9 บ – 1448กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วงหมายเลขทะเบียน 80 – 2105 ตรัง ที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วงไปชนรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ม – 3558 ภูเก็ตของโจทก์ซึ่งจอดอยู่ที่ไหล่ทางเสียหาย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ข้อความในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดอันเป็นผลให้จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า วันนี้คู่กรณีทั้งสามฝ่ายได้มาทำการตกลงชดใช้ค่าเสียหายกัน โดยฝ่ายนายชูชาติ(จำเลยที่ 1)ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ตกลงชดใช้กันโดยชดใช้ค่าเสียหายให้กับ และชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม – 3558 ภูเก็ต โดยรับซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเหมือนเดิม และรับชดใช้ค่าโทรทัศน์สี ขนาด 14 นิ้วจำเลย 1 เครื่อง ที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ และในวันที่ 31มกราคม 2537 จะนำเงินมาชำระค่าซ่อมรถยนต์ล่วงหน้าก่อนจำนวน30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) คู่กรณีทั้งสามฝ่ายสามารถตกลงกันได้จึงได้มอบรถยนต์ให้ต่างฝ่ายต่างรับคืนไปถูกต้องแล้วแต่เวลานี้เห็นว่าข้อความดังกล่าวแล้วแสดงแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยรบซ่อมรถยนต์ตู้ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเหมือนเดิมและรับชดใช้ค่าโทรทัศน์สีขนาด 14 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระ วิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีข้อความโดยแจ้งชัดว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share