คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงถึงที่สุดแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีไปในทางใด ก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงมิใช่กรณีที่ยังไม่ทราบว่าใครจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันที่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก็ผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความจนกว่าคำสั่งนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขกลับหรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นและทราบคำสั่งแล้ว ถือว่าหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้เริ่มขึ้นแล้วในวันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1716 ดังนั้นผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวันนับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1728 ทั้งนี้ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 และหากผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในกำหนดเวลาและ ตามแบบที่กำหนดไว้ มาตรา 1731 ก็บัญญัติให้ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกได้ การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดรวมทั้งเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ยังไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดก และแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทบ้างเลย ทั้งยังแสดงเจตนาที่จะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเช่นนี้ จึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรพล วรธงไชย ผู้ตายเจ้ามรดก ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ผู้ตายมีทรัพย์มรดกหลายรายการปรากฏตามบัญชีทรัพย์เอกสารท้ายคำร้องการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านและนายศรีศักดิ์ชัย เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้ว นายศรีศักดิ์ชัยมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายคือเด็กชายอรรณพ วรธงไชย นายศรีศักดิ์ชัยถึงแก่ความตายก่อนผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องปิดบังทายาทและจำนวนทรัพย์มรดกไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุรพล วรธงไชย ผู้ตายร่วมกันโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังไม่ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ยังไม่ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกเพราะคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกยังไม่ถึงที่สุด การไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่เสียหาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ทั้งสองฉบับรวมกันแล้วพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายสุรพล วรธงไชย ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 1 คนคือ นางสาวอภิรดี วรธงชัย ส่วนผู้คัดค้านและนายศรีศักดิ์ชัย วรธงไชย เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้วนายศรีศักดิ์ชัยมีบุตร 1 คน คือเด็กชายอรรณพ วรธงไชย นายศรีศักดิ์ชัย ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2526 ผู้ตายมีทรัพย์เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหลายรายการ และผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อผู้คัดค้านนัดหมายให้ผู้ร้องไปประชุมเพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกผู้ร้องก็ไม่ไปประชุมโดยทนายความมีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านว่าคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ยังไม่แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้จัดการมรดก ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประชุมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและผู้คัดค้านสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่า คดีตั้งผู้จัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ยังไม่ทราบว่าผู้ใดจะได้เป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องมิได้มีเจตนาไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก เพราะเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องได้ยื่นบัญชีทรัพย์ไว้แล้วทั้งทายาททราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายมีอะไรบ้างนั้นเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงถึงที่สุดแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษาคดีไปในทางใด ก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเลย จึงมิใช่กรณีที่ยังไม่ทราบว่าใครจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันที่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะผู้ร้องอุทธรณ์นั้น คำสั่งดังกล่าวก็ผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความจนกว่าคำสั่งนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537และทราบคำสั่งในวันนั้น อันถือว่าหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้เริ่มขึ้นแล้วในวันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1716 ดังนั้นผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวันนับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1728 ทั้งนี้ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน ตามมาตรา 1729หากผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในกำหนดเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ มาตรา 1731 ก็บัญญัติให้ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกได้ ที่กฎหมายบัญญัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกดังกล่าวก็เพราะว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายมีอะไรบ้างนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้ร้องอ้างว่าเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์ต่อศาลทายาทจึงทราบแล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้างนั้น บัญชีทรัพย์ที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลขณะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ใช่บัญชีทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องลงมือจัดทำให้แล้วเสร็จภายหลังที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 โดยที่ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด ทรัพย์มรดกที่ให้ผู้เช่าผู้ร้องก็เป็นผู้เก็บค่าเช่าตลอดมา ผู้ตายถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2534 แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้ครอบครองรวมทั้งเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวยังไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดก และแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทบ้างเลย ทั้งยังแสดงเจตนาที่จะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกดังปรากฎตามเอกสารหมาย ค.15 เช่นนี้จึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปที่ว่า ผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายได้รับรองแล้ว ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับได้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้วจึงสมควรให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป
ที่ผู้ร้องฎีกาทำนองว่า หากผู้คัดค้านได้เป็นผู้จัดการมรดกจะทำให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาทของผู้ตายนั้นไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันข้ออ้างดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้ร้องคาดหมายเอาเอง เพราะกฎหมายได้บัญญัติวิธีจัดการและปันทรัพย์มรดกเอาไว้ ซึ่งผู้จัดการมรดกจะต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว
พิพากษายืน

Share