แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทในช่องผู้ค้ำประกันมีชื่อจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ และมีข้อความระบุไว้อยู่เหนือลายมือชื่อว่า ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันกู้เงินให้แก่ มีข้อสัญญาดังแจ้งต่อไปนี้ ซึ่ง ผู้กู้ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของท่านไปเมื่อวันที่ เดือน พ.ศ.นั้น ถ้า ล้มตายเสียก็ดี หลบหนีหายไปเสียก็ดีหรือมีตัวอยู่ก็ดี ท่านจะเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ไม่ได้ โดยเหตุประการใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมใช้ต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่ท่านตามที่ได้ทำสัญญาไว้ให้แก่ท่านจนครบ ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้วข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานผู้อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ ข้อความดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกันแต่อยู่คนละหน้าต่อจากหนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้ยืมคือจำเลยที่ 1เป็นสำคัญ ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 60,962 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ได้มรณะ แต่โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อในช่องผู้ค้ำประกันปรากฏว่ามีชื่อจำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อไว้ตามหนังสือค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2และมีข้อความระบุไว้อยู่เหนือการลงลายมือชื่อว่า ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันกู้เงินให้แก่ มีข้อสัญญาดังแจ้งต่อไปนี้ ซึ่งผู้กู้ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของท่านไปเมื่อวันที่ เดือน พ.ศ.นั้น ถ้าล้มตายเสียก็ดี หลบหนีหายไปเสียก็ดี หรือมีตัวอยู่ก็ดี ท่านจะเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ไม่ได้โดยเหตุประการใด ๆ ก็ดีข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมใช้ต้นเงิน ดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆให้แก่ท่านตามที่ ได้ทำสัญญาไว้ให้แก่ท่านจนครบ ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้ว ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานผู้อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ ข้อความดังกล่าวทั้งหมดเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน แต่อยู่คนละหน้าต่อจากหนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมคือจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญ ข้อความดังกล่าวอ่านแล้ว เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ครบกำหนดชำระเงินตามวันแห่งปฏิทินแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 60,962 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าได้ชำระเสร็จ