คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8226/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 โดยบรรยายไว้เพียงว่า “โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ อันสามารถบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่โจทก์ ฯลฯ” ซึ่งขาด องค์ประกอบคำว่า “ที่มีอยู่จริง” ดังนั้น แม้จำเลยจะ สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้โจทก์อันมีลักษณะบังคับได้หรือ อันสามารถบังคับได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่หากไม่มีหนี้ที่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดเมื่อฟ้องโจทก์บรรยาย องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวขาดไป กรณีจึงเป็นฟ้องที่ ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกาแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาชอบที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณา และพิพากษายกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 200,000 บาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์อันสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาโจทก์ได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”โดยจำเลยออกเช็คเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ฯลฯ” ซึ่งทุกวรรคตอนถือเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดในอันที่จะขาดเสียมิได้ แต่ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 วรรคหนึ่ง บรรยายไว้เพียงว่า “โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้อันสามารถบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่โจทก์ ฯลฯ” ซึ่งขาดองค์ประกอบคำว่า “ที่มีอยู่จริง”ฉะนั้น แม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้โจทก์อันมีลักษณะบังคับได้หรืออันสามารถบังคับได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่หากไม่มีหนี้ที่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิด อีกทั้งถ้อยคำในกฎหมายที่มีลักษณะเป็นความผิดในทางอาญาและมีโทษจะต้องแปลความโดยเคร่งครัดทุกวรรคตอนและถือเป็นข้อความสำคัญทั้งหมด ดังนั้น เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายขาดไปซึ่งองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวกรณีจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกาชอบที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share