คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8217/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน พิพาทและโจทก์ได้ยื่นคำร้องและนำช่างแผนที่สำนักงานที่ดิน บุกรุกเข้าไปรังวัดที่ดินจำเลยบางส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็น ของจำเลย โจทก์ให้การว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ในคดีดังกล่าว ได้มีการทำแผนที่พิพาทซึ่งโจทก์ได้อ้างเป็นพยานในคดีนี้ และลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.69 และศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.19 ในคดี ดังกล่าวซึ่งตรงกับแผนที่เอกสารหมาย จ.74 และ จ.69 ในคดีนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ ดังนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็น คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก เมื่อที่ดินส่วนที่เป็นที่พิพาทในคดีนี้ตั้งอยู่ในเขตแผนที่ในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาคดีถึงที่สุดในคดีนั้นแล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครอง ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังนี้ โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินคือจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า ที่ดินตามแผนที่พิพาทในคดีนั้นหรือกับแผนที่พิพาทในคดีนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ย่อมมีเหตุให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีได้ นอกจากนี้การออกหมายจับโจทก์มาบังคับคดีได้หรือไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคัดค้านต่อศาลได้และอยู่ในดุลพินิจของศาลก่อนที่จะมีคำสั่งคำขอของโจทก์กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บริหารเรือนจำและที่คุมขังทั่วราชอาณาจักรกักกันคุมขังผู้ต้องหาและให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพแก่ผู้ต้องโทษ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 48 ไร่40 วา โดยโจทก์ซื้อที่ดินแปลงแรกมาจากนายเฟือย ใจดี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2505 ราคา 7,500 บาท แปลงที่ 2 ซื้อจากนายสุนทร แซ่เฮงหรือศักดิ์พันธ์พนมและนางอำพันธุ์ แก้วสนิทเมื่อปี 2504 ราคา 8,000 บาท โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง วันที่ 14 พฤศจิกายน2527 โจทก์ทราบจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยมอบที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อสร้างสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก จังหวัดนครสวรรค์ โดยไม่มีอำนาจเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2516 จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และขอให้ระงับการออกโฉนด คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 2 หน้า 120 เนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา เป็นของจำเลย ให้โจทก์และบริวารถอนเสาหินและออกไปจากที่ดินพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 581/2520 ของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาครบถ้วน แต่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 จำเลยกลับแกล้งยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทบุกรุกที่ดินพิพาทบางส่วน ขอให้ศาลออกหมายจับโจทก์จนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทอย่างใด จำเลยก็ทราบดีว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาครบถ้วนแล้ว เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อออกหมายจับโจทก์ เจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์นำตัวส่งศาลโจทก์ถูกควบคุมตัวประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วจึงได้ประกันตัวไป ทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงคิดเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 109 และเลขที่ 136 เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหรือนำไปให้ผู้อื่นใช้สอย และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพราะเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ 2,172 ไร่ ที่เรือนจำในสังกัดของจำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าแล้วใช้ตั้งเป็นเรือนจำชั่วคราวตั้งแต่ปี 2471 ให้นักโทษใช้เพาะปลูกทำกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นการฝึกอบรมผู้ต้องขังติดต่อกันมาจนถึงปี 2494 แต่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ปัจจุบันทางราชการขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จะอ้างการได้สิทธิครอบครองที่ดินยันต่อกระทรวงการคลังและจำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 ส่วนที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยแกล้งยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลออกหมายจับโจทก์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 581/2520 ของศาลชั้นต้นไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาจำเลยจึงขอให้ศาลออกหมายจับโจทก์ โจทก์แถลงยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า เข้าไปปลูกต้นยูคาลิปตัสเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของชาวบ้านที่โจทก์ซื้อมา แต่เมื่อเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็จะตัดฟันต้นไม้ออกจากที่ดินภายใน 90 วัน และจะไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไปอันเป็นการยอมรับว่าโจทก์ได้บุกรุกที่ดินของจำเลยบางส่วนจริง จำเลยมิได้แกล้งโจทก์เพราะเป็นการบังคับตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 581/2520 ของศาลชั้นต้นเพราะศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่า ที่ดินพิพาทตามสำนวนคดีแพ่งดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ 2,172 ไร่ คำพิพากษาตามสำนวนคดีแพ่งดังกล่าวผูกพันโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา กระทรวงการคลังยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 จำเลยร่วมได้จดทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว โดยจำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษา แม้โจทก์จะได้รับโอนสิทธิครอบครองมาจากผู้อื่น ก็ใช้ยันต่อจำเลยร่วมและจำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2173/2523 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 581/2520 ของศาลชั้นต้นไม่ผูกพันโจทก์เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 581/2520 จำเลยได้ฟ้องโจทก์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหนึ่งแปลงเนื้อที่ 2172 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10ตำบลนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์โจทก์ได้ยื่นคำร้องและนำช่างแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์บุกรุกเข้าไปรังวัดที่ดินจำเลยเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวาขอให้พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ให้การว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ในคดีดังกล่าวได้มีการทำแผนที่พิพาทซึ่งโจทก์ได้อ้างเป็นพยานในคดีนี้และลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.69 และศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.19 ในคดีดังกล่าว ซึ่งตรงกับแผนที่เอกสารหมายจ.74 และ จ.69 ในคดีนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ ศาลฎีกาที่ 2173/2523 เอกสารหมาย ป.ล.4 คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ที่พิพาทในคดีนี้เป็นของโจทก์เพราะโจทก์ครอบครองมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และที่พิพาทไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่ดินของจำเลยตามแผนที่เอกสารหมาย จ.74 หรือจ.69 ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 109 และ 136 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ในคดีนี้ตั้งอยู่ ปรากฏตามแผนที่เอกสารหมาย จ.54, 67 และ ป.ล. 1 เห็นว่าแผนที่ทั้งสามฉบับมีอาณาเขตเช่นเดียวกับแผนที่เอกสารหมาย จ.69และ จ.74 และที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 109 และ 136 อยู่ในเขตแผนที่เอกสารหมาย จ.54, 67 และ ป.ล.1 ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.84 โจทก์ก็นำชี้รับว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 109 และ 136 ส่วนที่เป็นที่พิพาทในคดีนี้ตั้งอยู่ในเขตแผนที่เอกสารหมาย จ.19 ในคดีก่อนหรือแผนที่เอกสารหมาย จ.69 หรือ จ.74 ในคดีนี้ด้วย และเมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2173/2523 แล้วว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครอง ฉะนั้นที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินคือจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การกระทำของจำเลยที่ออกหมายจับโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.19 ในคดีนั้น หรือเอกสารหมาย จ.69 หรือ จ.74 ในคดีนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่จึงมีเหตุให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีได้ทั้งการออกหมายจับโจทก์มาบังคับคดีได้หรือไม่ โจทก์มีสิทธิที่จะคัดค้านต่อศาลและอยู่ในดุลพินิจของศาลฉะนั้นจำเลยจึงไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
พิพากษายืน

Share